คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อ. ได้ยื่นคำขอถอนตัวเองออกจากการเป็นทนายโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์จะแต่งตั้งทนายความใหม่และได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าตัวโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบการถอนตัวออกจากการเป็นทนายความของ อ. จึงต้องถือว่า อ. ยังมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายผู้มาถอนตัวได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่ง การที่ศาลภาษีอากรยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ อ. ถอนตัวออกจากการเป็นทนายโจทก์แต่รอไว้สั่งในวันนัดชี้สถานจึงชอบแล้ว
ข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 หมวด 3 ได้บัญญัติกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถานไว้โดยชัดเจนในข้อ 16 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในกรณีที่คู่ความมาศาล เพื่อศาลจะได้สอบถาม ให้ได้ความชัดเจนในประเด็นข้อพิพาทและข้อเท็จจริงบางอย่างที่คู่ความ อาจแถลงร่วมกันได้อย่างไรก็ดี ถ้าในวันนัดชี้สองสถานคู่ความไม่มาศาล ก็ให้ศาลทำการชี้สองสถานไปได้ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 17 และถือว่าคู่ความผู้ไม่มาศาลได้ทราบกระบวนพิจารณาในวันนั้นแล้ว การที่คู่ความไม่มาศาลในวันนัดชี้สองสถาน จึงไม่เป็นเหตุขัดข้องแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ศาลย่อมทำการชี้สองสถานไปได้ตาม ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่าที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนความ การที่ ก. ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนวันนัดชี้สองสถานโดยอ้างว่าป่วย แม้จะได้ความ ว่า ก ป่วยจริงจนไม่อาจมาศาลได้ก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ศาล จะต้องเลื่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถานออกไป
ศาลภาษีอากรนัดชี้สองสถานในวันที่ 19 มกราคม 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานวันที่ 11 มกราคม 2542 เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 30 วัน ศาลภาษีอากรไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนทุกประเด็น เมื่อโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล โจทก์จึงไม่อาจนำพยานเข้านำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบพยานที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530 โดยเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีโจทก์ 4 ครั้ง เป็นการประเมินสำหรับปีภาษี 2529(ครึ่งปี)1 ครั้ง ประเมินสำหรับปีภาษี 2529 อีก 1 ครั้ง ประเมินสำหรับปีภาษี 2530(ครึ่งปี)1 ครั้ง และประเมินสำหรับปีภาษี 2530 อีก 1 ครั้งตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่โจทก์รายเดียวถูกประเมินภาษีหลายคราวแล้ว โจทก์รวมฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินมาเป็นคดีเดียว แต่การประเมินสำหรับปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530 ซึ่งมีทั้งการประเมินครึ่งปีกับเต็มปีถือได้ว่าเป็นการประเมินภาษีในปีภาษีเดียวกันจึงเป็นข้อหาเดียวเกี่ยวข้องกันแม้จะได้ความว่าเจ้าพนักงานของจำเลยจะทำการประเมินภาษีโจทก์รวม4 ใบประเมิน แต่ก็เป็นการประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529 และปีภาษี 2530 เท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในการคำนวณทุนทรัพย์เพียง 2 ข้อหา คือ ทุนทรัพย์ของการประเมินสำหรับปีภาษี 2529ข้อหาหนึ่ง กับทุนทรัพย์ของการประเมินสำหรับปีภาษี 2530 อีกข้อหาหนึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลใน 2 ทุนทรัพย์ ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยได้มีหมายเรียกมายังโจทก์อ้างว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ไว้ไม่ถูกต้องหรือมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 56 และมาตรา 56 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร สำหรับปีภาษี 2529 ถึง 2531 ให้โจทก์ไปให้ถ้อยคำชี้แจงประกอบการตรวจสอบพร้อมกับส่งมอบหลักฐานทางบัญชีเพื่อการตรวจสอบโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนนำเอกสารตามหมายเรียกมาส่งให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2533 เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยได้รับเอกสารจากโจทก์แล้วเป็นเวลาเกือบ 4 ปีได้แจ้งมายังโจทก์ว่า โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์ และมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529 (ครึ่งปี) เรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,978,798.73 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529เรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 20,564,476.56 บาทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2530 (ครึ่งปี) เรียกเก็บภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 25,659,083.80 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2530 เรียกเก็บภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 2,697,673.11บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 51,900,032.20 บาท จำเลยได้นำไปหักออกจากปีภาษี 2529 (ครึ่งปี) โจทก์ยังคงถูกเรียกเก็บภาษีเป็นเงินทั้งสิ้น 50,538,504.39บาท โจทก์จึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้วแต่ลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50 คงให้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529 (ครึ่งปี) รวมเป็นเงิน 2,482,332.47 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529 รวมเป็นเงิน 17,137,063.80 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2530 (ครึ่งปี) รวมเป็นเงิน 19,244,312.85 บาทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2530 รวมเป็นเงิน 2,248,060.93 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 39,750,242.03 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์เป็นผู้มีเงินได้จากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ ในระหว่างปี 2528 ถึง 2531 โจทก์ประกอบธุรกิจทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่ายจริงและตามความจำเป็นและสมควร ไม่มีรายการต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิและมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2529 ถึง 2531 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยกำหนดค่าใช้จ่ายขึ้นมาเอง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลย และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย

จำเลยให้การว่า ในการตรวจสอบภาษีอากร เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจพบว่า ในปีภาษี 2529 ถึง 2531 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีดังกล่าวแสดงการมีเงินได้หลายประเภทและแสดงรายจ่ายสำหรับต้นทุนขายอสังหาริมทรัพย์ไว้สูงมาก ประกอบกับโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี 2530เจ้าพนักงานประเมินจึงออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์ในปีภาษี 2529 ถึง 2531 โดยหมายเรียกทั้งสองฉบับดังกล่าวได้แจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับปีภาษีดังกล่าวให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อทำการตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าโจทก์นำส่งเอกสารตามหมายเรียกให้แก่จำเลยล่าช้า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการตรวจสอบการเสียภาษีอากรของโจทก์ทุกประเภทภาษี ในการตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินพบว่า โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีในปีภาษี 2530 ส่วนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีในปีภาษี 2529 และครึ่งปีในปีภาษี 2531 กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2529 ถึง 2531 นั้น โจทก์แสดงรายได้และรายจ่ายในการคำนวณภาษีในระบบเกณฑ์สิทธิและมีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกรณีการแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานด้านรายได้และค่าใช้จ่ายของโจทก์นำมาปรับปรุงรายการที่โจทก์จะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องในแต่ละปีภาษี โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านในประเด็นการปรับปรุงรายได้ของโจทก์ในแต่ละปีภาษี ส่วนประเด็นด้านรายจ่ายโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านเพียงเฉพาะรายการปรับปรุงค่าใช้จ่ายอันเป็นต้นทุนสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ในแต่ละปีภาษีเท่านั้น ในการตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้คำนวณหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์ตามหลักฐานการจ่ายของโจทก์ รายการใดที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายจะต้องถือเป็นรายการที่ไม่อาจนำมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้ กรณีค่าใช้จ่ายอันเป็นต้นทุนขายบ้านและที่ดิน ในปีภาษี 2529 ถึง 2531 นั้น จะมีต้นทุนขายในแต่ละปีที่เกี่ยวพันกับต้นทุนขายในปีอื่น ๆ ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานรายละเอียดค่าใช้จ่ายค่าวัสดุก่อสร้างให้เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบได้ว่า งานก่อสร้างและงานในระหว่างก่อสร้างในปีภาษีใดมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นค่าอะไรบ้างสำหรับโครงการหมู่บ้านใด จำนวนเท่าใด และแบบบ้านประเภทใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงคำนวณหักค่าใช้จ่ายอันเป็นต้นทุนขายบ้านและที่ดินให้โจทก์ และหักค่าใช้จ่ายสำหรับงานถนนและงานสาธารณูปโภคให้แก่โจทก์ การตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีในปีภาษี2529 ถึง 2530 และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2529 ถึง 2530 ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2531 โจทก์มีภาษีชำระเกินจำนวน 1,361,527.81 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงได้นำภาษีชำระเกินจำนวนดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนภาษีที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีในปีภาษี 2529 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานในวันที่ 19 มกราคม 2542 เวลา 13.30นาฬิกา วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 นายเอนก คำชุ่ม ทนายโจทก์ในฐานะผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของโจทก์ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งในคำร้องว่า “สำเนาให้อีกฝ่าย รอไว้สั่งในวันนัด” วันที่ 18 ธันวาคม2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนนายเอนกออกจากการเป็นทนายความของโจทก์ และขอยกเลิกไม่ให้เป็นตัวแทนในการรับคำคู่ความและเอกสารพร้อมกับยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาใหม่ แต่งตั้งให้นายไกรศักดิ์ ขัดคำ เป็นทนายความคนใหม่ ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งในคำร้องขอถอนนายเอนกว่า “สำเนาให้อีกฝ่าย สั่งในวันนัด ส่วนใบแต่งทนายความนั้นสั่งรวมสำนวน” วันที่ 11มกราคม 2542 นายไกรศักดิ์ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีพยานศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า “การยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามข้อกำหนดฯ ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ต้องยื่นเป็นคำร้องพร้อมทั้งยื่นบัญชีระบุพยานและสำเนาในจำนวนที่เพียงพอ โจทก์ยื่นแต่เพียงคำร้องให้ยกคำร้อง” วันรุ่งขึ้นนายไกรศักดิ์ ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานใหม่ พร้อมทั้งบัญชีระบุพยาน ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า”สำเนาให้อีกฝ่าย รอไว้สั่งในวันนัด” ครั้งถึงวันนัดชี้สองสถานนายไกรศักดิ์ทนายโจทก์มอบฉันทะให้นายวิรัช พิพรพงษ์ เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนการชี้สองสถานมายื่นอ้างว่ามีความประสงค์จะแถลงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับคำฟ้องและคำให้การ แต่เนื่องจากป่วยต้องพักรักษาตัวกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปรากฏตามใบรับรองแพทย์ ส่วนนายเอนกทนายโจทก์อีกคนหนึ่งมอบฉันทะให้นายสมศักดิ์ ชินวงษ์ เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นอ้างว่าโจทก์แต่งตั้งทนายคนใหม่แล้วจึงไม่ได้ว่าความอีกและมีภารกิจติดประชุมร่วมกับกรรมการบริหารของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์กรุงเทพเคหะ จำกัดซึ่งนายเอนกมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อจึงมอบฉันทะให้นายสมศักดิ์มาฟังคำสั่งเรื่องขอถอนทนาย ทนายจำเลยไม่ค้านที่ทนายโจทก์ป่วย แต่เห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะเลื่อนการชี้สองสถาน ส่วนการขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานทนายจำเลยค้านอ้างว่าโจทก์ทราบดีถึงความมีอยู่ของพยานเอกสาร โดยโจทก์แนบไว้ท้ายฟ้องทั้งพยานบุคคลก็เป็นบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับโจทก์ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่าเนื่องจากโจทก์ได้รับทราบการถอนทนายของนายเอนกแล้ว จึงอนุญาตให้นายเอนกถอนทนายจากคดีนี้ได้ ส่วนคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาต และไม่อนุญาตให้เลื่อนการชี้สองสถาน แล้วทำการชี้สองสถานกะประเด็นข้อพิพาท สั่งให้โจทก์นำสืบก่อนทุกประเด็นโดยมีคำสั่งต่อไปว่าเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในระยะเวลาที่กำหนดจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณานัดฟังคำพิพากษาต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2542 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาวันนัดชี้สองสถานอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณา ศาลภาษีอากรกลางสั่งไต่สวนสืบพยานโจทก์เสร็จในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2542 แล้วมีคำสั่งในวันนั้นว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลในคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเสียมาในอัตราสูงสุดเพียงจำนวนเดียว ให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์แต่ละข้อหาให้ครบถ้วน โจทก์จึงเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก 318,260 บาท ผลของการไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณานั้น ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งในวันที่ 4 มีนาคม 2542ว่าศาลได้สั่งไปโดยชอบแล้ว ให้ยกคำร้องและให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 มีนาคม 2542 วันที่ 9 มีนาคม โจทก์ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่มีคำสั่งลงวันที่ 4 มีนาคม 2542 ไว้

พิเคราะห์แล้ว โจทก์อุทธรณ์เป็นปัญหาสำคัญรวม 5 ข้อ โดยปัญหาข้อแรกมีว่า การที่โจทก์ถอนนายเอนกออกจากการเป็นทนายความของโจทก์แต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้มีคำสั่งทันที กลับรอไว้สั่งในวันนัดชี้สองสถานเป็นการไม่ชอบ เพราะต่อมาโจทก์ได้ตั้งให้นายไกรศักดิ์เป็นทนายความแล้วศาลควรอนุญาตให้โจทก์ถอนนายเอนกออกจากการเป็นทนายความของโจทก์การที่ศาลยังไม่มีคำสั่งอนุญาตทำให้โจทก์เสียหายต้องแต่งตั้งนายเอนกเป็นทนายความของโจทก์ต่อไปนั้น เห็นว่า ตามคำขอถอนทนายความลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ที่นายเอนกได้ยื่นคำขอถอนตัวเองออกจากการเป็นทนายโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์จะแต่งตั้งทนายความใหม่ และได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าตัวโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบการถอนตัวออกจากการเป็นทนายความของนายเอนก จึงต้องถือว่านายเอนกยังมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายผู้มาถอนตัวได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่งการที่ศาลภาษีอากรกลางยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้นายเอนกถอนตัวออกจากการเป็นทนายโจทก์จึงชอบแล้ว

ปัญหาต่อไปเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อ 2, 3 และ 4 ไปในคราวเดียวกันโดยโจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีในวันชี้สองสถาน และคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่พิพากษายกฟ้องไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 หมวด 3 ได้บัญญัติกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถานไว้โดยชัดเจนในข้อ 16 บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อในกรณีคู่ความศาลก็จะได้สอบถามให้ได้ความชัดเจนในประเด็นข้อพิพาท และข้อเท็จจริงบางอย่างที่คู่ความอาจแถลงร่วมกันได้ อย่างไรก็ดี ถ้าในวันนัดชี้สองสถานคู่ความไม่มาศาล ก็ให้ศาลทำการชี้สองสถานไปได้ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 17 และถือว่าคู่ความผู้ไม่มาศาลได้ทราบกระบวนพิจารณาในวันนั้นแล้ว ดังนี้ การที่คู่ความไม่มาศาลในวันนัดชี้สองสถาน จึงไม่เป็นเหตุขัดข้องแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ศาลย่อมทำการชี้สองสถานไปได้ ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่าที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนความดังนั้นการที่นายไกรศักดิ์ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนวันนัดชี้สองสถานโดยอ้างว่าป่วย ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะได้ความว่านายไกรศักดิ์ป่วยจริงจนไม่อาจมาศาลได้ก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ศาลจะต้องเลื่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถานออกไปแต่อย่างใดที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนการชี้สองสถานจึงชอบแล้ว

ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตในบัญชีระบุพยานนั้น ได้ความว่าโจทก์ยื่นคำร้องในวันที่ 11 มกราคม 2542 แต่คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานในวันที่ 19 มกราคม 2542 การยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามข้อที่กำหนดดังกล่าวข้อ 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 30 วัน ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว ฉะนั้น เมื่อได้ความว่าคดีนี้ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนทุกประเด็น เมื่อโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล โจทก์จึงไม่อาจนำพยานเข้านำสืบได้เพราะเป็นการนำสืบพยานที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน แล้วพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีเพราะไม่มีพยานมาสืบ จึงชอบแล้ว

ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องค่าขึ้นศาล โดยมีปัญหาว่าตามคำฟ้องของโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลโดยการรวมทุนทรัพย์ตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้ง 4 ฉบับ หรือโดยการแยกตามหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530 โดยเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีโจทก์ 4 ครั้ง เป็นการประเมินสำหรับปีภาษี 2529 (ครึ่งปี) 1 ครั้ง ประเมินสำหรับปีภาษี 2529 อีก 1 ครั้ง ประเมินสำหรับปีภาษี 2530 (ครึ่งปี) 1 ครั้งและประเมินสำหรับปีภาษี 2530 อีก 1 ครั้ง เห็นว่า ตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์รายเดียวถูกประเมินภาษีหลายคราว แล้วโจทก์รวมฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินมาเป็นคดีเดียว ดังนี้ แม้กรณีจะได้ความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะได้ทำการประเมินหลายหนหลายคราว แต่การประเมินสำหรับปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530 ซึ่งมีทั้งการประเมินครึ่งปีกับเต็มปี ถือได้ว่าเป็นการประเมินภาษีในปีภาษีเดียวกัน จำนวนเงินภาษีของปีภาษี 2529 กับปีภาษี 2530จึงมียอดเงินภาษีของปีภาษี 2529 (ครึ่งปี) กับปีภาษี 2530 (ครึ่งปี) ตามลำดับรวมอยู่กับเงินภาษีสำหรับการประเมินครึ่งปีภาษีและเต็มปีภาษี อันเป็นจำนวนเดียวกัน จึงเป็นข้อหาเดียวเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น แม้จะได้ความว่า เจ้าพนักงานของจำเลยจะทำการประเมินภาษีโจทก์รวม 4 ใบประเมินแต่ก็เป็นการเพื่อเสียภาษีปีภาษี 2529 และปีภาษี 2530 เท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในการคำนวณทุนทรัพย์เพียง 2 ข้อหา คือ ทุนทรัพย์ของการประเมินสำหรับปีภาษี 2529ข้อหาหนึ่ง กับทุนทรัพย์ของการประเมินสำหรับปีภาษี 2530 อีกข้อหาหนึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลใน 2 ทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงิน 400,000 บาทที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลโดยแยกออกเป็น 4 ทุนทรัพย์ตามการประเมินเป็นเงิน 518,260 บาท จึงไม่ชอบ”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเพิ่มจำนวน 118,260 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง

Share