คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มาตรา 6 มีผู้ร้องเป็นผู้ว่าการ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตามมาตรา 26 มิใช่กรณีผู้ว่าการต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามมาตรา 27ผู้ว่าการจึงมีอำนาจแต่งทนายความเพื่อดำเนินคดีในนามผู้ร้องได้ ผู้คัดค้านมิได้ยกข้อที่ว่าการผลิตดาบน้ำพี้ เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสถาบันผู้ร้องหรือไม่ขึ้นมาเป็นประเด็นคัดค้านคำร้องของผู้ร้อง แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยปัญหานี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางโดยชอบ ผู้คัดค้านจึงยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือองค์กร ที่ไม่มีกฎหมายรับรอง การดำเนินการขององค์กร ก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายในข้อที่จะต้องไม่กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้คัดค้านแถลงข่าวกล่าวหาว่าผู้ร้องหลอกลวงประชาชนโดยมิได้เป็นความจริงผู้คัดค้านไม่ว่าในฐานะใดก็จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น จะอ้างว่าได้กระทำในฐานะของสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ และไม่มีบทกฎหมายใดที่ผู้คัดค้านจะยกขึ้นอ้างให้พ้นผิดทั้งขณะแถลงข่าวผู้คัดค้านก็ยังมีฐานะเป็นพนักงานของผู้ร้องผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างได้ว่าผู้คัดค้านไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของผู้ร้อง คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิสูจน์ดาบน้ำพี้ ที่ผู้ร้องผลิตเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายสวัสดิ์ หนูขาว เป็นพนักงานของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง นายสวัสดิ์มีพฤติการณ์ที่ไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ ก้าวร้าว เสียดสี ประชดประชัน ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้บังคับบัญชาหน่วยงานที่ปฏิบัติงานอยู่ และได้กระทำผิดวินัยอย่างร้างแรงในกรณีให้ข้อความแก่หนังสือพิมพ์ เสนอบทความและออกอากาศทางโทรทัศน์ในส่งที่เกี่ยวกับงานของผู้ร้องโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการเจตนาฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้ร้องและมติคณะรัฐมนตรี จงใจให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลแรงงานกลางอนุญาตตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ผู้ร้องสั่งลงโทษนายสวัสดิ์กรรมการลูกจ้าง โดยให้ไล่ออกตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้อง
นายสวัสดิ์ หนูขาว กรรมการลูกจ้างยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 นั้น เป็นแถลงในฐานะที่เป็นประธานสหภาพแรงงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าประชุมเพื่อร่วมแถลงข่าวของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ในฐานะที่ผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานและสมาชิกของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทั้งนี้เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิหาหกิจสัมพันธ์ที่เห็นว่าการผลิตดาบน้ำพี้ของผู้ร้องนั้นมีเงื่อนงำส่อเค้าไม่สุจริต ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าดาบน้ำพี้เป็นวัตถุมงคล ตามความเชื่อถือมาแต่โบราณ แต่ความจริงแล้วเป็นดาบที่ทำจากเหล็กธรรดาเท่านั้นขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษ นายสวัสดิ์หนูขาว กรรมการลูกจ้างคัดค้านโดยให้เลิกจ้างได้ ให้มีผลนับแต่ผู้ร้องมีคำสั่งภายหลังศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในประการที่สี่ว่า การที่ผู้ร้องผลิตดาบน้ำพี้จำหน่ายแก่ประชาชนเป็นการหลอกลวงนั้น ปัญหาข้อนี้ผู้คัดค้านอุทธรณ์มาสองประการประการแรกอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าดาบเหล็กน้ำพี้ที่ผู้ร้องผลิตแตกต่างจากเหล็กธรรมดาเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับประเด็นที่กำหนดไว้ ในประการแรกนี้เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ดาบเหล็กน้ำพี้ที่สถาบันผู้ร้องผลิตแตกต่างกับเหล็กธรรมดานั้น เป็นการวินิจฉัยเพื่อชี้ให้เห็นเหตุที่มาของความแตกต่างสำหรับดาบเหล็กน้ำพี้ที่ผู้ร้องผลิตขึ้นว่ามีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรในอันที่จะชี้ให้เห็นเป็นผลสุดท้ายว่าที่โฆษณาไปนั้นเป็นการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ เป็นการแยกแยะขั้นตอนการวินิจฉัยเพื่อให้เห็นผลชัดเจนเท่านั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ตรงประเด็นตามข้ออุทธรณ์ของผู้คัดค้าน สำหรับอุทธรณ์ประการที่สองของผู้คัดค้านในปัญหาข้อนี้ที่ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานที่มิใช่เป็นผู้รู้เห็นในเรื่องการวิจัยก็ดี หรือที่อ้างว่าไม่รับฟังคำพยานของผู้คัดค้านก็ดีนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในประการที่ห้าว่า ผู้คัดค้านได้แถลงข่าวในฐานะของสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และมีอำนาจที่จกระทำได้นั้น เห็นว่า การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์การที่ชอบด้วยกฎหมายหรือองค์กรที่มิได้มีกฎหมายรับรองก็ตาม การก่อให้เกิดองค์กรนั้น ๆ ขึ้นมาไม่ว่าจะรวมกลุ่มของสมาชิกจำนวนมากน้อยเท่าใด มีองค์กรย่อยเข้ามาเป็นสมาชิกมากมายเพียงใด การดำเนินการขององค์กรนั้นก็มิได้อยู่นอกเหนือบทบัญญัติของกฎหมายในข้อที่จะต้องไม่กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า ผู้คัดค้านแถลงข่าวกล่าวหาว่าผู้ร้องหลอกลวงประชาชนโดยที่มิได้เป็นความจริง ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวดังกล่าวไม่ว่าในฐานะใดก็จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง จะอ้างฐานะใดฐานะหนึ่งมาเป็นข้อยกเว้นให้ตนซึ่งเป็นผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายพ้นความรับผิดหาได้ไม่ และไม่มีบทกฎหมายใดที่ผู้คัดค้านจะยกขึ้นมาอ้างให้พ้นผิดได้ ทั้งในขณะที่ผู้คัดค้านแถลงข่าวนั้น ผู้คัดค้านก็ยังคงมีฐานะเป็นพนักงานของผู้ร้องอยู่ ซึ่งผู้คัดค้านจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องในเรื่องนี้ด้วย ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าตนสามารถทำได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของผู้ร้องนั้นฟังไม่ขึ้น
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในประการที่หกว่า การแถลงข่าวของผู้คัดค้านไม่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น เห็นว่า ในเรื่องการแถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของผู้ร้องนั้น มีข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยการปฏิบัติของพนักงาน พ.ศ. 2525 ข้อ 9 ระบุว่า “พนักงานจะต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากผู้ว่าการก่อนที่จะ…ให้ข้อความแก่หนังสือพิมพ์ หรือแสดงปาฐกถาเสนอบทความ การออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือกล่าวคำปราศรัยในส่วนที่เกี่ยวกับงานของสถาบันอันเป็นการเผยแพร่ต่อบุคคลหรือสาธารณชนภายนอก…”ดังนั้นการที่ผู้ร้องแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสถาบันผู้ร้อง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการก่อนจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว ทั้งข้อความที่ผู้คัดค้านแถลงนั้นเป็นการแถลงกล่าวหาว่าผู้ร้องกระทำการอันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยที่ผู้ร้องมิได้กระทำการในลักษณะเช่นนั้น เห็นได้ว่าผู้ร้องเป็นสถาบันที่จะต้องอยู่ในความเชื่อถือในทางวิชาการการกล่าหาว่าผู้ร้องหลอกลวงประชาชนจะมีผลในทางที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อความเชื่อถือในสถาบันผู้ร้องอย่างร้ายแรงการกระทำของผู้คัดค้านเช่นนี้เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าด้วยระเบียบวินัยการลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ. 2522 ข้อ 9ซึ่งระบุว่า “พนักงานและลูกจ้างต้องสนับสนุนนโยบาลของรัฐบาลและต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายข้อบังคับระเบียบของสถาบันและมติของคณะรัฐมนตรี ให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่สถาบันด้วยอุตสาหะเอาใจใส่ และระมัดระวังผลประโยชน์ของสถาบัน
การประมาทเลินเล่อในหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับและระเบีบบของสถาบันหรือมติคณะรัฐมนตรีอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่สถาบันอย่างร้ายแรง เป็นความผิดอย่างร้ายแรง”
เห็นว่า การกระทำของผู้คัดค้านก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องอย่างร้ายแรงจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามความในข้อ 9 นี้แล้ว ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างมาในอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมิได้สืบให้เห็นว่าเสียหายร้ายแรงอย่างไรนั้น ในเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านปรากฏโดยชัดเจนถึงความเสียหายแก่สถาบันของผู้ร้องแล้วก็ไม่ต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีก เพราะมิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง
เมื่อฟังว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการทำผิดข้อบังคับสถาบันฯ ข้อ 9 แล้วโทษของผู้คัดค้านก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของสถาบันฯ ข้อ 26 คือ ให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้นจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา…”
พิพากษายืน.

Share