แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497มาตรา 24 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่กรณีที่จะเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนไม่ใช่บทบังคับว่าจะต้องเสนอตั้งเสมอไป และในวรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุว่าถ้าไม่ได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วจะฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้ ส่วนมาตรา 24 วรรคสอง ก็มีความหมายเพียงว่า หากผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการภายในกำหนด 6 เดือน ทั้งไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วยจึงไม่ถือว่าราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เสนอเป็นเงินค่าทดแทน ไม่ใช่ห้ามฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่ใช่ราคาแท้จริงที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 169 มีผลใช้บังคับ ไม่อาจนำมาใช้กำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดิน แต่จะต้องถือตามราคาซื้อขายที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทในเวลาใกล้เคียงกับวันที่ที่ดินพิพาทถูกเวนคืนเป็นราคาที่ซื้อขายกันจริงในท้องตลาด มาใช้กำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่ 2 งาน79 ตารางวา ไม่ มาก เกินไปจนถึงกับจะต้องกำหนดราคาเป็นหน่วย ๆลดหลั่นลงไปตามส่วนเช่นที่ทางราชการกำหนดไว้ในแผนผังที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงสมควรกำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินพิพาทเป็นราคาเดียวกันตลอดทั้งแปลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1920 ตำบลบางไส้ไก่ อำเภอบางกอกใหญ่)กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันคือแขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 169 กำหนดเขตที่ดินที่คิดว่าจะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา ตำบลคลองสานตำบลบางยี่เรือ ตำบลบุคคโล อำเภอธนบุรี นครหลวงกรุงเทพธนบุรี(กรุงเทพมหานคร) เพื่อสร้างและขยายทางหลวงให้รับกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสร้างขึ้น ณ ปลายถนนสาธร ต่อมาวันที่15 มิถุนายน 2520 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงในท้องที่แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรีแขวงคลองต้นไทร และแขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน แขวงบางรักเขตบางรัก และแขวงยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครให้แก่กระทรวงมหาดไทยตามแนวทางหลวงที่จะสร้างและขยายภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 169 ลงวันที่18 มิถุนายน 2515 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 79 ตารางวา(หรือ 1879 ตารางวา) หลังจากนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ทั้งเจ็ดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2521 โดยไม่ชอบด้วยขั้นตอนของกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ได้วางเงินค่าตอบแทนต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์แต่ประการใด โจทก์จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์ตั้งแต่เวลาที่จำเลยเข้าครอบครองเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ 1,879 ตารางวา เป็นเงิน 3,602,200 บาท เฉลี่ยตารางวาละ 1,917 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในขณะมีประกาศของคณะปฏิวัติเวนคืนไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 25,000 บาทโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลยเพียงตารางวาละ 15,000 บาทเป็นเงินรวม 28,185,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่จำเลยได้เข้าครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในเดือนพฤษภาคม 2521ถึงวันฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 41,925,187 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,185,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามเกณฑ์ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นจำนวนทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในหน่วยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งราคาในแต่ละหน่วยแตกต่างกันเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,602,200 บาทอันเป็นราคาสูงสุดที่จะพึงขายได้ตามท้องตลาดในขณะนั้นซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายและความเป็นธรรมแล้ว อธิบดีกรมโยธาธิการในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ทำหนังสือเสนอราคาเด็ดขาดให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ไม่สนองรับภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำเสนอ และไม่ใช้สิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่โจทก์ได้รับคำเสนอราคาเด็ดขาดโจทก์มีสิทธิที่จะรับเงินตามที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นำไปวางศาลเท่านั้น กรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น โจทก์ก็มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ศาลกำหนดให้ชำระเพิ่มขึ้นเท่านั้น กับเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินห้าปีนับถึงวันฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,601,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 15,032,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 11,492,800บาท นับแต่วันฟ้องย้อนหลัง 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1920ตำบลบางไส้ไก่ อำเภอบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันคือแขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร) เมื่อวันที่ 20มิถุนายน 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 169 กำหนดเขตที่ดินที่คิดว่าจะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางยี่เรือ อำเภอธนบุรีพร้อมกับท้องที่ตำบลและอำเภออื่น ๆ อีก เพื่อสร้างและขยายทางหลวงให้รับกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสร้างขึ้น ณ ปลายถนนสาธรต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2520 ได้มีพระราชบัญญัติอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงในท้องที่แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงอื่น ๆ ให้แก่กระทรวงมหาดไทย ตามแนวทางหลวงที่จะสร้างขยายภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 169 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 79 ตารางวา หรือ1879 ตารางวา คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตามเกณฑ์ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นจำนวนทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์อยู่ในหน่วยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งราคาแต่ละหน่วยแตกต่างกันเป็นเงินทั้งสิ้น 3,602,200 บาท อธิบดีกรมโยธาธิการได้ทำหนังสือเสนอราคาเด็ดขาดให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ไม่สนองรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำเสนอ และโจทก์ไม่ใช้สิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการกำหนดค่าทดแทนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่โจทก์ได้รับคำเสนอราคาเด็ดขาด แต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว โดยอ้างว่าค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ต่ำไป ควรจะเป็น 28,185,000 บาท
มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า1. การที่โจทก์มิได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนก่อนที่จะยื่นฟ้องคดีโจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่และ 2. โจทก์ควรจะได้ค่าทดแทนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วในประเด็นข้อแรกนั้น พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 24 วรรคแรกบัญญัติว่า”ถ้าคำเสนอของเจ้าหน้าที่ไม่มีคำสนองรับภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำเสนอนั้น คู่กรณีแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 29 ได้” วรรคสองว่า”ถ้าผู้มีสิทธิจะได้รับค่าทดแทนไม่เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวภายในกำหนดหกเดือนให้ถือว่าราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เสนอเป็นเงินค่าทดแทน” เช่นนี้เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าววรรคแรกเป็นการให้สิทธิคู่กรณีที่จะเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเท่านั้น มิใช่บทบังคับว่าจะต้องเสนอตั้งเสมอไป คู่กรณีจะเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ทั้งบทกฎหมายมาตราดังกล่าวก็มิได้ระบุว่าถ้ามิได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วจะฟ้องคดีต่อศาลมิได้ ส่วนบทบัญญัติมาตราดังกล่าววรรคสองนั้น ก็มีความหมายเพียงว่า หากผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการภายในกำหนด 6 เดือนทั้งไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วย จึงให้ถือว่าราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เสนอเป็นเงินค่าทดแทน มิใช่ห้ามมิให้ฟ้องร้องคดีโดยมิได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการก่อน ฉะนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับในประเด็นข้อสุดท้ายนั้น โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ฟังได้ว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มีการซื้อขายกันดังนี้คือ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ธนาคารกสิกรไทยได้ซื้อที่ดินของเรือเอกหลวงยุทธวินัยพิเนต ห่างที่ดินโจทก์ประมาณ 80 เมตร คิดเฉลี่ยตารางวาละ 21,818 บาท พ.ศ. 2513 ธนาคารกรุงไทย จำกัด ซื้อที่ดินของนายวิฑูร อรรถจินดาห่างจากที่ดินโจทก์ประมาณ 600 เมตร ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ8,228 บาท พ.ศ. 2521 บริษัทเงินทุนมหาทุนเคหะ จำกัด ซื้อที่ดินจากนางสง่า ฉายะวรรณ 2 แปลง ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ14,492 บาท พ.ศ. 2522 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซื้อที่ดินจากนายสพรั่งศักดิ์ จุลเดชะ ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 28,000 บาทส่วนจำเลยนำสืบว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2525 ไม่มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงมีมติให้กำหนดค่าทดแทนตามราคาประเมินปานกลางตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นจำนวนทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและส่งอ้างเอกสารหมาย ล.13 อันแสดงถึงกำหนดราคาเป็นหน่วย ๆลดหลั่นลงไปตามความใกล้ไกลกับถนน โดยกำหนดเป็นสี่ราคาคือตารางวาละ 8,000 บาท, 4,000 บาท, 1,600 บาท และ 1,000 บาท โดยจำเลยฎีกาว่า ศาลไม่ชอบที่จะกำหนดค่าทดแทนแก่โจทก์โดยพิจารณาจากราคาซื้อขายที่ดินของคนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินของโจทก์ และไม่ชอบที่จะกำหนดราคาเดียวเท่ากันตลอดทั้งแปลงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ชอบที่จะถือตามราคาประเมินปานกลางตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นจำนวนทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยกำหนดราคาลดหลั่นกันลงไปตามความใกล้ไกลจากถนนตามเอกสารหมาย ล.13 และให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนตามที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดสำหรับในข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ค่าทดแทนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ถือตามราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยถือว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 169 มีผลใช้บังคับนั้นมิใช่ราคาแท้จริงที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ส่วนราคาที่ซื้อขายของที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทในเวลาใกล้เคียงกับวันที่ที่ดินพิพาทถูกเวนคืน เป็นราคาที่ซื้อขายกันจริงและย่อมจะใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดและเป็นธรรมมากกว่าสมควรจะใช้เป็นเครื่องกำหนดค่าทดแทน ซึ่งปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าที่ดินของนายวิฑูร อรรถจินดา ขายให้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2513เนื้อที่ 1 งาน 75 ตารางวา คิดเฉลี่ยราคาตารางวาละ 8,228 บาทเป็นการซื้อขายในบริเวณใกล้เคียงกับที่พิพาทในวันที่ใกล้ชิดกับวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 169 ใช้บังคับที่สุดศาลล่างทั้งสองจึงใช้เป็นหลักในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนในคดีนี้ โดยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 8,000 บาทเป็นการเหมาะสมแล้ว และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินรายพิพาทนี้เป็นราคาเดียวกันตลอดทั้งแปลง มิได้กำหนดราคาเป็นหน่วย ๆ ลดหลั่นลงไปตามส่วนเช่นที่ทางราชการกำหนดไว้ในแผนผังแสดงที่ดินที่ถูกเวนคืน เอกสารหมาย ล.13 เป็นตารางวาละ8,000 บาท, 4,000 บาท 1,600 บาท, และ 1,000 บาท ตามลำดับนั้น เห็นว่าถูกต้องและเหมาะสมแล้วเพราะราคาที่ดินที่นายวิฑูรอรรถจินดา ขายไปและนำมาใช้เป็นหลักในการกำหนดค่าทดแทนในคดีนี้นั้นเป็นราคาเฉลี่ยแล้ว และที่ดินที่ถูกเวนคืนในคดีนี้ก็มีเนื้อที่ไม่มากจนเกินไปถึงกับจะมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ ค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์ จึงถูกต้องเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน