แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จะออกโดยฝ่ายบริหาร แต่ก็ได้ออกโดยอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ฯ ข้อ 2 จึงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย
การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุแต่อย่างใด เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและ พนักงานรัฐวิสาหกิจฯก็มิได้บัญญัติว่าการที่พนักงาน ต้องพ้น ตำแหน่งเพราะครบ 60 ปีบริบูรณ์ไม่เป็นการเลิกจ้าง จึงไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศดังกล่าวในข้อที่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง
เงินบำเหน็จเป็นเงินที่จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เป็นเงิน ประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยก็หาเป็นค่าชดเชยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ วันที่ 10 เมษายน2520 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยเป็นเวลา 180 วันของค่าจ้างสุดท้าย จำเลยจ่ายให้เพียง 90 วัน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก 90 วัน
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากตำแหน่งโดยผลบังคับของกฎหมายไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างเลิกสัญญา และโจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญและเงินสงเคราะห์จำนวนหนึ่งตามข้อบังคับของจำเลย เงินที่โจทก์ได้รับจึงเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทยทุกฉบับไม่ใช่กฎหมาย ขัดกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน จำเลยได้จ่ายให้ 90 วัน ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยที่ขาดพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก 90 วัน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ออกโดยฝ่ายบริหาร แต่ก็ได้ออกโดยอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จึงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะโจทก์ออกจากงาน มีความว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯ” ดังนี้ไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หรือเพราะเกษียณอายุแต่อย่างใด การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเมื่อโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามข้อ 46 แห่งประกาศดังกล่าวแล้ว และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้บัญญัติว่า การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องพ้นตำแหน่งเพราะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ไม่เป็นการเลิกจ้าง จึงไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ในข้อที่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง อันจะถือว่ามีผลเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทย
ค่าชดเชยนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 ให้คำนิยามไว้ว่า “หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง” แต่บำเหน็จนั้น พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ซึ่งระเบียบของจำเลยกำหนดให้นำมาใช้โดยอนุโลมให้คำนิยามไว้ในมาตรา 4 ว่า “หมายความว่าเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาซึ่งจ่ายครั้งเดียว” ดังนี้ เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยก็หาใช่ค่าชดเชยไม่ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ไม่เป็นข้อยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์อีกเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน