แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยปลูกสร้างอาคารเกินไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้แก้ไขเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจขอต่อศาลให้บังคับจำเลยได้ การใช้อำนาจดังกล่าวมิใช่การใช้สิทธิเรียกร้อง จึงมิอาจอ้างอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30(มาตรา 164 เดิม)มาใช้กับกรณีนี้ได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจขอให้บังคับให้รื้อถอนอาคารที่สร้างผิดแบบแปลนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารยังฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ ปัญหาที่ว่าจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอกแล้วจึงไม่อาจบังคับจำเลยตามฟ้องได้นั้นจำเลยมิได้ตั้งประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทนี้ไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และล้ำเข้าไปในเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารด้านหน้าในส่วนที่ก่อสร้างเกินไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต 0.10 เมตร หากไม่ยอมรื้อก็ให้โจทก์รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยไม่ได้สร้างอาคารผิดแบบแปลนหรือรุกล้ำที่สาธารณะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำพิพากษาในประเด็นข้อ 3 ต่อไป
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารด้านหน้ากว้าง3.30 เมตร เกินไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต 0.10 เมตร ทำให้ด้านข้างซึ่งติดถนนสาธารณะห่างจากกึ่งกลางถนนไม่ถึง 2 เมตรเป็นการขัดต่อเทศบัญญัติของเทศบาลกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2483 ข้อ 59 วรรคสอง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2479 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 11 ทวิซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังมิได้ใช้อำนาจรื้อถอน จนกระทั่งกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปโดยใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แทนกฎหมายฉบับใหม่ยังคงบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอยู่และให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่น สั่งให้รื้อถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงแต่จะใช้อำนาจรื้อถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเองไม่ได้เท่านั้นเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้แก้ไขอาคารส่วนที่ผิดแบบแปลน เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้บังคับจำเลยได้ อันเป็นวิธีการบังคับคดีในส่วนแพ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่การใช้สิทธิเรียกร้องจึงมิอาจอ้างอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30(มาตรา 164 เดิม) อันเป็นกฎหมายสาระบัญญัติมาใช้กับกรณีนี้ได้ทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะร่นโดยรอบอาคารเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารที่สร้างผิดแบบแปลนได้เสมอ ตราบเท่าที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่แม้การปลูกสร้างอาคารของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าจำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยก็ต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างเกินไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตสำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพิพาทตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จึงไม่อาจบังคับจำเลยตามฟ้องได้นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ตั้งประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทนี้ไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยรื้อถอนอาคารด้านหน้าในส่วนที่ติดกับถนนราชวงศ์ ซึ่งจำเลยก่อสร้างเกินไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต0.10 เมตร ตลอดแนวของตึกแถวอาคารเลขที่ 75 ถนนราชวงศ์แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ด้านทิศใต้ซึ่งติดกับถนนสาธารณะทางเข้าวัดกุศลสมาคร ตามรูปแผนที่เอกสารหมายจ.5 แผ่นที่ 3 (พื้นที่ในส่วนสีแดง) ถ้าจำเลยไม่รื้อถอนอาคารในส่วนที่เกินให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย