แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในการรังวัดออก น.ส.3 ก. จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดล้ำรั้วไม้เข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์มิได้คัดค้าน ถือว่าโจทก์ได้สละการครอบครองที่ดินส่วนที่ล้ำนั้นแล้ว ต่อมาโจทก์สร้างรั้วคอนกรีตแทนรั้วไม้ หลังจากนั้นจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดออกโฉนดที่ดิน ตามแนวที่ดินที่ได้ออก น.ส.3ก. จึงถือว่าจำเลยมิได้รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ และการสร้างรั้วคอนกรีตของโจทก์เป็นการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดิน 2 แปลงติดต่อกันจำเลยมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก โจทก์จำเลยต่างครอบครองที่ดินตามแนวเขตรั้วตลอดมา ต่อมาเดือนมกราคม 2528โจทก์รื้อรั้วด้านที่ติดกับที่ดินจำเลยออกแล้วสร้างเป็นรั้วคอนกรีตตามแนวรั้วเดิมโดยจำเลยรู้เห็นและมิได้ห้ามปราม ต่อมาจำเลยขอออกโฉนดที่ดินของจำเลย และจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 โดยชี้เขตที่ดินของจำเลยเข้าไปในที่ดินภายในรั้วคอนกรีตของโจทก์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง กว้าง 1 ศอกเศษ ยาวจากเหนือจดใต้ 1 เส้นเศษ ตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ตารางวา การที่จำเลยนำชี้เขตที่ดินของจำเลยเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินที่จำเลยนำชี้เข้ามาในเขต น.ส.3 หรือในเขตรั้วคอนกรีตตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือโจทก์มีสิทธิครอบครอง และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์รื้อรั้วไม้รวกออกแล้วสร้างรั้วคอนกรีตขึ้นแทน แต่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยโดยไม่สร้างตามแนวเขตรั้วไม้รวกเดิม จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดตรวจสอบแนวเขตพร้อมกับขอให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินของจำเลยให้จำเลย ปรากฏว่าโจทก์สร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยประมาณ 3 วา และพิพากษาให้โจทก์รื้อรั้วคอนกรีตที่ก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของจำเลยออกไป และปรับปรุงที่ดินดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิมห้ามโจทก์และบริวารเข้ามารบกวนเกี่ยวข้องในที่ดินของจำเลยอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครอบที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์รื้อรั้วคอนกรีตที่ก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของจำเลยออกไปและทำที่ดินดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิม กับห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยอีกต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์จำเลยมีที่ดินที่ตำบลโคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ติดต่อกัน โดยที่ดินจำเลยอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ ที่ดินของโจทก์จำเลยดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เดิมมีรั้วไม้รวกเป็นแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์จำเลย ต่อมาในปี 2527 จำเลยนำช่างรังวัดสำนักงานที่ดินอำเภอโคกสำโรงรังวัดที่ดินจำเลยเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ให้จำเลยแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เดิมของจำเลย โจทก์จำเลยได้ชี้ตกลงแนวเขตติดต่อกันไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกน.ส.3ก. ให้จำเลยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาเดือนมกราคม 2528โจทก์ก่อสร้างรั้วคอนกรีตขึ้นแทนรั้วไม้รวก หลังจากนั้นในเดือนกันยายน 2528 จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินจำเลยเพื่อออกโฉนดที่ดิน โดยจำเลยนำชี้ที่ดินของจำเลยทางทิศใต้ล้ำแนวรั้วคอนกรีตเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง ภายในเส้นสีเขียว มีเนื้อที่ประมาณ 2 ตารางวา ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.11คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ก่อสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำเบิกความของนายเศกสิทธิ ประชุมธิต เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี และนายวิโรจน์ ดวงจอมดี ช่างรังวัดประกอบเอกสารแผนที่การรังวัดเพื่อออกโฉนด ซึ่งแสดงบริเวณที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.11 ได้ความว่าแนวเขตที่ดินพิพาททางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้น ฝ่ายโจทก์ชี้เขตที่จุดหลัก ลม.1 ส่วนจำเลยชี้เขตที่จุดหลัก ลม.2 ขัดแย้งกันเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดตรวจสอบด้านทิศเหนือยาว 1.175 เส้น เท่ากับระยะตาม น.ส.3ก. ส่วนทางทิศใต้ตามที่จำเลยนำชี้และปักหลัก ลม.2นั้นวัดแล้วได้ระยะ 1.175 เส้น เท่ากับระยะตาม น.ส.3ก. เช่นเดียวกับทิศเหนือ ส่วนตามที่โจทก์นำชี้ปักหลัก ลม.1 ด้านทิศใต้วัดได้1.167 เส้น หรือ 46.68 เมตร น้อยกว่าระยะตาม น.ส.3ก. ไป 32เซนติเมตร เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีความเห็นว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า การรังวัดออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวถือตามรูปที่ดินและตามแนวเขต น.ส.3ก.ซึ่งได้ทำการรังวัดและออก น.ส.3ก. ให้จำเลยในปี 2527 เป็นหลักซึ่งในการรังวัดครั้งนั้น โจทก์เบิกความยอมรับว่า ได้ยอมให้จำเลยนำรังวัดล้ำแนวรั้วไม้รวกซึ่งเป็นแนวเขตเดิมเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยโจทก์มิได้คัดค้านแต่ประการใด ย่อมถือได้ว่า โจทก์ได้สละการครอบครองที่ดินส่วนที่จำเลยนำรังวัดว่าเป็นที่ดินของจำเลยนั้นให้จำเลยแล้ว แนวเขตที่ดินของโจทก์จำเลยจึงไม่อาจถือตามแนวรั้วไม้รวกอันเป็นแนวเขตที่ดินเดิมได้อีกต่อไป และต้องถือแนวเขตที่ดินใหม่ตามที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำชี้ล้ำแนวรั้วไม้รวกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งจำเลยอ้างว่ารั้วคอนกรีตของโจทก์ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย กว้าง .008 เส้นหรือ 32 เซนติเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความกว้างของที่ดินที่โจทก์เบิกความว่า ได้ยอมให้จำเลยนำรังวัดล้ำแนวรั้วไม้รวกเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ เมื่อจำเลยนำรังวัดเพื่อออกน.ส.3ก. ดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแนวเขตที่ดินของจำเลยเพื่อออกโฉนดที่ดินตามแนวเขตที่ดินที่โจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยนำรังวัดเพื่อออก น.ส.3ก. นั้นจึงถือได้ว่าจำเลยมิได้รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์สร้างรั้วคอนกรีตตามแนวรั้วไม้รวกอันเป็นแนวเขตที่ดินเดิม จึงเป็นการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานโจทก์ คดีฟังได้ว่า โจทก์ก่อสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง…”
พิพากษายืน.