คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14(1) ถึง(5) นั้น ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยประสงค์จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องใด ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน เพื่อเป็นการควบคุมการประกอบกิจการของธนาคารพาณิชย์ ถ้าธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีความผิดตามมาตรา 44 แต่ถ้าไม่มีประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติ ก็เท่ากับไม่มีข้อกำหนด คู่สัญญาคือธนาคารกับลูกค้าจะตกลงกันอย่างไรก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายถูกธนาคารจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน 2 ครั้ง เพราะเงินในบัญชีของโจทก์มีไม่พอจ่าย ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาแล้วจำเลยย่อมมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช็คคืนจากโจทก์ตามประกาศของสมาคมธนาคารไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยรับรองให้ใช้บังคับได้ ประกาศของสมาคมธนาคารไทยนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยนำมาใช้กับลูกค้าทุกธนาคาร โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังนั้น ที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช็คคืนจากโจทก์ตามประกาศของสมาคมธนาคารไทย จำนวน 100 บาท จึงชอบด้วยกฎหมายการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 สาขานครปฐมจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขานครปฐม จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำการในทางการที่จ้างด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กล่าวคือเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้หักเงินจากบัญชีของโจทก์จำนวน 100 บาท เป็นค่าธรรมเนียมเช็คเช็คคืนเลขที่ 4481949 ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากสิทธิอันจะอ้างตามกฎหมายได้และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่เกียรติยศชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดความเชื่อถือในวงการธุรกิจ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน50,350 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 50,000 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันประกาศขอขมาโจทก์ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจำนวน 3 ฉบับ ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 สาขานครปฐมว่าถ้าโจทก์ได้จ่ายเช็คโดยที่เงินคงเหลือในบัญชีไม่พอจ่ายตั้งแต่2 ครั้งขึ้นไป โจทก์ยอมให้ธนาคารปิดบัญชีเลขที่ 523 ของโจทก์ได้ทันที โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยอมให้ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมในการคืนเช็คนั้น ๆ ตามระเบียบของธนาคาร และโจทก์ตกลงอีกว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 สาขานครปฐม มีสิทธิหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 523 ของโจทก์เพื่อชดใช้ค่าธรรมเนียมและหนี้อื่น ๆ อันพึงมีในการติดต่อกับจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 มาตรา 14 แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 มาตรา 14(1) ถึง (5) นั้น ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยประสงค์จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องใด ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อนเพื่อเป็นการควบคุมการประกอบกิจการของธนาคารพาณิชย์ถ้าธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จึงจะมีความผิดตามมาตรา 44แต่ถ้าไม่มีประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติ ก็เท่ากับไม่มีข้อกำหนดคู่สัญญาคือธนาคารกับลูกค้าจะตกลงกันอย่างไรก็ได้กรณีคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์สั่งจ่ายถูกจำเลยที่ 2 สาขานครปฐม ปฏิเสธการจ่ายเงิน 2 ครั้งเพราะเงินในบัญชีของโจทก์มีไม่พอจ่าย ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 9 แล้ว จำเลยที่ 2 สาขานครปฐม ย่อมมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช็คคืน และจำเลยที่ 2 สาขานครปฐม ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช็คคืนจากโจทก์ตามประกาศของสมาคมธนาคารไทยซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยรับรองให้ใช้บังคับได้ตามเอกสารหมาย ล.7และ ป.ล.1 ประกาศของสมาคมธนาคารไทยนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยนำมาใช้กับลูกค้าทุกธนาคารโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2สาขานครปฐม เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช็คคืนจากโจทก์ตามประกาศของสมาคมธนาคารไทย จำนวน 100 บาท จึงชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share