คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าในขณะทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมเจ็บป่วยจนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีเจตนาในการทำพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ หาได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 มาใช้บังคับตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรมไม่มีผลใช้บังคับ ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2มีสิทธิรับมรดก 1 ใน 6 ส่วน และ 1 ใน 3 ของ 1 ใน 6 ส่วนของที่ดินโฉนดที่ 499ตามลำดับ หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ก็ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งแก่โจทก์ตามส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่านางจาด พูลเจริญ เจ้ามรดกซึ่งมีอายุ 88 ปีแล้ว ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ครั้งสุดท้ายได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเมื่อวันที่31 สิงหาคม 2517 แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัด รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจหนึ่งเดือนเศษ บรรดาทายาทได้ตกลงกันนำเจ้ามรดกออกจากโรงพยาบาลไปอยู่ที่บ้านของเจ้ามรดก ที่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 6 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ เพราะเจ้ามรดกเคยสั่งไว้ว่า หากจะตายขอตายที่บ้านของตนเจ้ามรดกมาอยู่ที่บ้านได้ประมาณ 3 สัปดาห์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2517 ก่อนถึงแก่ความตาย 3 วันคือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2517จำเลยที่ 4 ได้นำนายบุญหลง ลัดพลี ปลัดอำเภอตรี อำเภอบางพลี มาทำพินัยกรรมฉบับพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่เจ้ามรดก” ฯลฯ

“จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในข้อ ง. ว่า โจทก์ทราบข้อกำหนดในพินัยกรรมเกิน 3 เดือนแล้วจึงมาฟ้อง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสามได้ยกอายุความ 3 เดือนขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ และก่อนวันสืบพยาน ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามแถลงยืนยันว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ 3 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มิถุนายน 2519 ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ขึ้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความโดยที่จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกอายุความตามมาตรานี้ขึ้นต่อสู้จึงเป็นการไม่ชอบ คดีจึงมีปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อายุความตามมาตรานี้ใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1708 และ 1709 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าในขณะที่นางจาด พูลเจริญ ทำพินัยกรรมนางจาด พูลเจริญ เจ็บป่วยจนไม่มีสติสัมปชัญญะโดยนางจาด พูลเจริญ ไม่ได้มีเจตนาในการทำพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายโจทก์หาได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ดังกล่าวนั้นแต่ประการใดไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 มาใช้บังคับในคดีนี้ไม่ได้ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยให้การต่อสู้” ฯลฯ

“จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในข้อ จ. ว่า นางจาด พูลเจริญ มีเจตนาทำพินัยกรรมฉบับพิพาทและขณะทำพินัยกรรมฉบับพิพาท นางจาด พูลเจริญมีสติสัมปชัญญะดี พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมายศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ฯลฯ พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าโจทก์ รับฟังได้ว่าในขณะทำพินัยกรรมฉบับพิพาท นางจาด พูลเจริญ ผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะดี พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์มีผลบังคับตามกฎหมายที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่มีผลบังคับตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในข้อนี้ฟังขึ้นและมีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย

พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความสามศาลเป็นเงิน 10,000 บาท”

Share