แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นข้าราชการ ตำแหน่งนายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง สังกัดกรมชลประทาน มีหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง จัดซื้อดูแลรักษาพัสดุ และน้ำมันเชื้อเพลิงและควบคุมการใช้จ่ายเงินตลอดทั้งเบิกเงินและจ่ายเงินให้แก่คนงาน จำเลยร่วมกับ ค.พนักงานบัญชีปลอมเอกสารบัญชีรายชื่อคนงาน และลายมือชื่อคนงาน และใช้เอกสารปลอมดังกล่วไปเบิกเงินค่าแรง เมื่อได้รังเงินที่เบิกตามเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงิน และค.ลงชื่อเป็นพยานในเอกสาร โดยไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าแรงนั้นให้แก่บุคคลที่มีชื่อในเอกสาร แต่จำเลยเบียดบังเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนี้ การที่จำเลยปลอม ใช้เอกสารปลอมและรับรองข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารดังกล่าวข้างต้น ก็โดยมีเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินค่าแรงที่เบิกมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.เป็นเจ้าหนี้ทางราชการอยู่โดยทางราชการได้ขอยืมวัสดุและสิ่งของมาเพื่อประโยชน์ ต่อมาจำเลยซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เพื่อใช้ราชการในหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง แต่ไม่ได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อไป คงฝากไว้ที่ห้างฯ เพราะที่หน่วยก่อสร้างไม่มีที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อต้องการใช้ก็จะไปรับน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างฯ ดังกล่าวเป็นคราวๆ ตามหลักฐานใบนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของห้างฯ ปรากฏว่าได้ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อให้หน่วยก่อสร้างครบถ้วนแล้ว แต่ความจริงหน่วยก่อสร้างได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ครบ เพราะมีการหักชำระหนี้ซึ่งห้างฯ เป็นเจ้าหนี้ทางราชการอยู่การที่จำเลยไม่ตั้งงบประมาณและเบิกเงินจากงบประมาณมาชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กลับเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง ไปชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ ดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงปฏิบัติผิดระเบียบของทางราชการเท่านั้น ไม่เป็นการเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงอันจะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เบียดบังยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๑๕๑,๑๕๒,๑๕๓,๑๕๗,๑๖๑,๑๖๒,๒๖๔,๒๖๕,๓๕๒,๘๓,๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓,๗,๘,๙,๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๐๓,๖๒๗ บาทแก่กรมชลประทานด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ และ ๑๖๒ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๖๑ อันเป็นบทหนัก จำคุก ๓ กระทง กระทงละ ๖ เดือน รวมจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เบียดบังยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๑๕๑,๑๕๒,๑๕๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๗,๘,๙ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๗ อันเป็นบทหนัก จำคุก ๕ กระทงๆ ละ ๕ ปี รวมจำคุก ๒๕ ปี รวมทั้งสิ้นให้จำคุกจำเลย ๒๖ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๐๓,๖๒๗ บาทแก่กรมชลประทาน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรี ตำแหน่งนายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดกรมชลประทาน มีหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง จัดซื้อดูแลรักษาพัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิง และมีหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายเงินตลอดทั้งเบิกเงินและจ่ายเงินให้แก่คนงาน โดยกรมชลประทานมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยไปทำหน้าที่นายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง นายเคนน้อยพนักงานบัญชีเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวปลอม โดยนายเคนน้อยนำบัญชีรายชื่อคนงานซึ่งทำงานแต่ละวันในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๕ เดือนธันวาคม ๒๕๑๕ และเดือนมกราคม ๒๕๑๖ โดยมีลายมือชื่อคนงานด้วยอันเป็นบัญชีรายชื่อและลายมือชื่อปลอม ตามเอกสารหมาย จ.๙/๑๐ ถึง จ.๙/๕๑ ไปให้นางสาวประภาลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมียนลงทะเบียนค่าแรงเพื่อเป็นหลักฐานว่าบุคคลซึ่งมีชื่อในเอกสารดังกล่าวทำงานที่หน่วยงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงใน ๓ เดือนดังกล่าว แล้วให้นางสาวประภากรอกรายชื่อบุคคลดักกล่าวในใบเบิกค่าแรงแบบ ช.ป.๖ นางสาวประภาจึงกรอกรายการและรายชื่อบุคคลดังกล่าวรวมทั้งอัตราค่าจ้างลงในเอกสารหมาย จ.๙/๑ ถึง จ.๙/๙ แล้วนายเคนน้อยก็ปลอมลายมือชื่อบุคคลดังกล่าวตรงช่องลายมือชื่อผู้รับเงินและลงชื่อว่ากรอกถูกต้องแล้ว ต่อจากนั้นนายเคนน้อยก็นำเอกสารหมาย จ.๙/๑ ถึง จ.๙/๙ ไปให้จำเลย จำเลยลงชื่อในช่องผู้เบิกและช่องสมควรจ่ายให้ แล้วจำเลยส่งเอกสารหมาย จ.๙/๑ ถึง จ.๙/๙ ไปเบิกค่าแรงประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๕ เป็นเงิน ๑๐,๕๖๐ บาท ค่าแรงประจำเดือนธันวาคม ๒๕๑๕ เป็นเงิน ๑๐,๐๘๐ บาท และค่าแรงประจำเดือนมกราคม ๒๕๑๖ เป็นเงิน ๑๑,๐๔๐ บาท เมื่อได้รับเงินค่าแรงที่เบิกไปตามเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงินและนายเคนน้อยลงชื่อเป็นพยานในเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสงวนวงษ์กาฬสินธุ์เพื่อใช้ราชการในหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง คือน้ำมัน เบนซิน ๑๖,๐๐๐ ลิตร และน้ำมันดีเซล ๓๐,๐๐๐ ลิตร ปรากฏเอกสารหมาย จ. ๑๐ และ จ. ๑๑ แต่ไม่ได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อไปคงฝากไว้ที่ห้างฯ เพราะที่หน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงไม่มีที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อต้องการใช้ก็จะไปรับน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างฯดังกล่าวเป็นคราวๆ ตามใบนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของห้างฯ ดังกล่าว ปรากฏว่าได้ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อให้หน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงครบถ้วนแล้ว แต่ความจริงหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง ได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ครบ โจทก์จึงฟ้องว่าจำเลยเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนที่ขาดไป คือน้ำมันเบนซิน ๑๑,๘๐๐ ลิตร ราคา ๒๒,๗๗๔ บาท และน้ำมันดีเซล ๑๔,๘๐๐ ลิตร ราคา ๑๕,๖๘๘ บาท จำเลยอ้างว่าจำเลยมารับงานนายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงจากนายสร่าง เมื่อจำเลยมารับงานนั้น นายสร่างบอกจำเลยว่าหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงเป็นหนี้ห้างฯ อยู่ ๗๐,๐๐๐ บาทเศษ ตามเอกสารหมาย ล.๑๘ จำเลยจึงเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อไว้นั้นหักชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ จนหมดสิ้น
ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยร่วมกับนายเคนน้อยปลอมและใช้เอกสารปลอมกับเบียดบังเอาเงินค่าแรงที่เบิกมาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยอาจเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขาดจำนวนไปชำระหนี้ที่หน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงเป็นหนี้ห้างฯ ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะมารับงานชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ ดังกล่าวก็ได้ การที่จำเลยไม่ตั้งงบประมาณและเบิกเงินจากงบประมาณมาชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ กลับเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงไปชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ ดังกล่าว เป็นเพียงปฏิบัติผิดระเบียบของทางราชการเท่านั้น ไม่เป็นการเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงตามฟ้อง การที่จำเลยปลอมใช้เอกสารปลอมและรับรองข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารดังกล่าวข้างต้น ก็โดยมีเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินค่าแรงที่เบิกมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑,๑๖๒ (๑) และ ๑๔๗ รวม ๓ กระทง ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๗ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมจำคุก ๑๕ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๓๑,๖๘๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.