คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้ง 47 คน ต่างวันต่างเวลากันและรับเงินจากผู้เสียหายทั้ง 47 คนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่รับเงินจากผู้เสียหายแต่ละคน ซึ่งจำเลยกระทำทั้งหมด 47 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหลายกรรมต่างกันรวม 47 กรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 343, 83ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้ง 47 คน ตามจำนวนเงินที่ปรากฏรายละเอียดในบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและจำนวนเงินท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษหนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,666.67 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี4 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกระทงความผิด และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่บรรดาผู้เสียหายตามรายชื่อผู้เสียหายและจำนวนเงินในบัญชีท้ายฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ10,000 บาท รวม 47 กระทง และให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 5 ปีรวม 47 กระทง ลดโทษให้จำเลยทั้งสองกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 6,666.67 บาทรวมเป็นเงิน 313,333.49 บาท ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เมื่อรวมกันทุกกระทงความผิดแล้วเกิน 20 ปี อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงืนแก่บรรดาผู้เสียหายทั้ง 47 คน ตามลำดับชื่อผู้เสียหายและจำนวนเงินในบัญชีท้ายฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมพิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับ 6,666.67 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรม แต่คงลงโทษจำเลยทั้งสองแต่ละกระทงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่เกินกระทงละ 5 ปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงบรรดาผู้เสียหายทั้ง47 คน ต่างวันต่างเวลาและต่างข้อเท็จจริงกัน จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองจัดหางานและรับสมัครงาน โดยมีผู้เสียหายทั้ง 47 คนเป็นผู้สมัครงานจำเลยทั้งสองได้จัดหางานเป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียว มิใช่จัดหางานและรับสมัครคนงานแต่ละช่วงกำหนดเวลาต่างกัน การรับสมัครงานและรับเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระยะเวลาที่เกิดเหตุเท่านั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะดำเนินการในการจัดหางานในคราวเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชนนั้น นอกจากการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้วต้องได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงด้วย และจะเป็นความผิดสำเร็จทันทีเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้งสองประการในคดีนี้จำเลยทั้งสองแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้เสียหายทั้ง 47 คน ต่างวันต่างเวลากันและรับเงินจากผู้เสียหายทั้ง 47 คน แล้ว ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่รับเงินจากผู้เสียหายแต่ละคน ซึ่งจำเลยทั้งสองกระทำทั้งหมด 47 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 47 กรรม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2530 ที่จำเลยทั้งสองอ้างมานั้นเป็นเรื่องความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานซึ่งมีองค์ประกอบความผิดต่างกับความผิดในคดีนี้ ไม่อาจนำมาปรับแก่คดีนี้ได้…”
พิพากษายืน.

Share