แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ใบรับรองของผู้ขอรับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นคำชี้แจงของผู้ขอเบิกเงิน บันทึกของเจ้าหน้าที่ว่าตรวจถูกต้อง อนุมัติให้จ่ายเงิน เป็นคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ บัญชีหน้างบสมุดคู่มือวางฎีกา เป็นแต่เอกสารราชการ มิใช่หลักฐานแห่งสิทธิ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 226
มาตรา 91 ก่อนแก้ไขโดย คณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ฯ ความผิดหลายกระทงซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ศาลลงโทษเพียงกระทงเดียวก็ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 161, 265, 266, 268, 341 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2502 มาตรา 13ลดโทษตามมาตรา 78 ลงโทษตามมาตรา 157 บทหนัก และเป็นความผิด 28กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี เป็นจำคุก 28 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,161, 265,268, 341 แก้ไข พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ลงโทษตามมาตรา 157 บทหนัก ลดโทษตามมาตรา 78 จำคุกคนละ 5 ปี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการตำรวจประจำการจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี มีหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดนกองตำรวจภูธรชายแดน กรมตำรวจ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ในกองการเงิน กรมตำรวจมีหน้าที่ตรวจสอบฎีกาที่รับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เสนอผู้บังคับบัญชาเมื่อระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2512 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2513 จำเลยร่วมกันใช้เอกสารปลอมหลอกลวงเบิกเงินจากกองการเงิน กรมตำรวจ ไปรวม 28 ครั้งตามฎีกาเบิกเงิน 28 ฉบับ ทั้งนี้โดยเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับฎีกาเบิกเงินจากหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดนแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ร่วมกันทำใบสำคัญปลอมว่า บุคคลซึ่งต้องเจ็บป่วยเสียเงินค่ารักษาพยาบาลนั้น เป็นตำรวจหรือบุคคลในครอบครัวตำรวจเป็นจำนวนหลายฉบับ ความจริงไม่มีตัวบุคคลเช่นว่านั้นแล้วนำใบสำคัญปลอมดังกล่าวจำนวนหนึ่ง รวมกับใบสำคัฐที่แท้จริงจำนวนหนึ่งจัดเป็นชุด ทำเช่นนี้รวม 28 ชุด แต่ละชุดทำเป็นฎีกาเบิกเงินรวม 28 ฎีกา แต่ละฎีกาจำเลยร่วมกันปลอมบัญชีหน้างบในใบสำคัญแจ้งรายการใบสำคัญ พร้อมทั้งจำนวนเงินตามใบสำคัญทั้งฉบับปลอมและฉบับแท้จริงรวมกัน โดยทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ แล้วจำเลยได้ร่วมกันปลอมชื่อพลตำรวจตรีชัยแสง นวลักษณ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดน ซึ่งต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรชายแดน หรือพลตำรวจตรีประเนตร ฤทธิฤาชัย หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดนคนต่อมาเป็นผู้อนุมัติให้เบิกจ่ายได้ในใบรับรองของผู้ขอรับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลฉบับที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมขึ้นเพิ่มจากของเดิม เป็นผู้ตรวจถูกต้องในบัญชีหน้างบใบสำคัญ และเป็นผู้เบิกเงินในบันทึกขอเบิกเงินปะหน้า (ฎีกา) ฉบับที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งมีจำนวนเงินสูงขึ้นแทนของเดิมที่ดึงออก แล้วส่งฎีกาเบิกเงินแต่ละชุดซึ่งปลอมขึ้นนั้นไปเบิกเงินยังกองการเงิน กรมตำรวจ โดยแก้ไขจำนวนเงินในสมุดคู่มือวางฎีกาแต่ละฉบับนั้นให้ตรงกับจำนวนเงินตามฎีกาที่จำเลยร่วมกันปลอมขึ้น จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบฎีกาทั้ง 28 ฉบับนี้แล้ว นำเสนอผู้บังคับบัญชาตามหน้าที่ ฎีกาแต่ละฉบับนั้นจึงประกอบด้วยจำนวนเงินซึ่งเบิกตามใบสำคัญอันแท้จริง กับจำนวนเงินซึ่งเบิกตามใบสำคัญปลอมอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อเบิกเงินได้แล้ว จำเลยที่ 1 นำเงินตามใบสำคัญแท้จริงมอบให้สมุห์บัญชีเพื่อจ่ายให้ผู้ขอเบิกต่อไป ส่วนจำนวนเงินตามใบสำคัญปลอมนั้น จำเลยนำไปแบ่งปันกันเป็นประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งสิ้นจำเลยได้รับเงินไปตามฎีกา 28 ฉบับ เป็นเงิน 481,759 บาท เป็นเงินตามใบสำคัญแท้จริง 98,766.22บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มอบให้สมุห์บัญชีรับไปแล้ว เงินที่เหลืออีก 382,593 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ได้รับตามเอกสารปลอมนั้น จำเลยทั้งสองนำไปแบ่งปันกัน
จำเลยไม่สืบพยาน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า
ข้อ 1. จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266ด้วยหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่า ใบรับรองของผู้ขอรับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลบัญชีหน้างบใบสำคัญบันทึกขอเบิกเงินปะหน้า (ฎีกา) ที่จำเลยปลอมขึ้นโดยทำขึ้นมาใหม่แทนของเดิม และสมุดคู่มือวางฎีกาที่จำเลยแก้ไขจำนวนเงิน เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการนั้น เห็นว่าใบรับรองของผู้ขอรับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลดังเช่น เอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 2 นั้นเป็นเพียงคำชี้แจงของผู้ขอเบิกประกอบใบเสร็จรับเงินที่ทางโรงพยาบาลออกให้ว่าตนมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบของทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อในบันทึกแผ่นเดียวกันนั้นว่า “ได้ตรวจสอบหลักฐานถูกต้องแล้ว” ก็ดี “ถูกต้องตามระเบียบ เห็นควรจ่ายได้ตามที่ขอ” แล้วหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดนลงชื่อในบันทึกต่อมาว่า “อนุมัติให้เบิกจ่ายได้” ก็เป็นการตรวจหลักฐานและคำชี้แจงของผู้เบิกของผู้บังคับบัญชาเจ้าสังกัดในเบื้องต้นซึ่งเป็นเอกสารราชการเท่านั้นสำหรับบัญชีหน้างบใบสำคัญบันทึกขอเบิกเงินปะหน้า (ฎีกา) และสมุดคู่มือวางฎีกานั้นก็เป็นเพียงเอกสารราชการเช่นกันที่ใช้ประกอบการเบิกเงินตามใบเสร็จรับเงินของผู้ขอรับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลต่อกองการเงิน กรมตำรวจเท่านั้นมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิเอกสารเหล่านี้ที่โจทก์อ้างจึงมิใช่เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2. การกระทำของจำเลยทั้ง 28 กระทง แต่ละกระทงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2502 มาตรา 13 แต่ละกระทงมีโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปี เท่ากันหมด ศาลอุทธรณ์จะลงโทษจำเลยแต่เพียงกระทงเดียวได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด โดยยังมิได้ถูกแก้ไขโดยคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 บัญญัติว่า “เมื่อศาลจะพิพากษาลงโทษผู้ใด และปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปหรือจะลงโทษเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด โทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกินยี่สิบปี เว้นแต่เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต”เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจศาลที่จะลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงโทษจำเลยเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดก็ได้ คดีนี้โทษบทหนักแต่ละกระทงเป็นความผิดต่อกฎหมายมาตราเดียวกันมีโทษเท่ากัน แม้จะไม่มีกระทงที่หนักที่สุดให้ศาลเลือก ศาลก็ลงโทษจำเลยแต่เพียงกระทงเดียวได้”
พิพากษายืน