คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 14 วรรคสอง และคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องการยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลต่อศาลพร้อมทั้งส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้จำเลยก่อนวันนัดพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน ย่อมทำให้โจทก์มิได้รับประโยชน์ในกระบวนพิจารณาส่วนนี้ตามที่โจทก์ร้องขอ โดยศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่ยอมรับบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแทนการซักถามพยานโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นยังจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันนัดพิจารณาตามที่นัดไว้ ซึ่งโจทก์ได้นำพยานบุคคลมาศาลด้วยแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ธ.18013/2542 ของศาลแพ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้คิดถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 8,704,682.05 บาท ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย

จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา

ในวันนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและให้รับบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานโจทก์ที่โจทก์ยื่นต่อศาลล่วงเลยระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดในวันนัดพร้อมไว้เป็นพยานหลักฐานในคดี

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2543 โดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดนัดนั่งพิจารณาใหม่ และดำเนินการต่อไปจนเสร็จการพิจารณาแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้เสนอบันทึกถ้อยคำของพยานแทนการซักถามพยาน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 14 วรรคสอง กล่าวคือ โจทก์มิได้ยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานต่อศาลและส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่รับบันทึกถ้อยคำนั้นเป็นพยานหลักฐาน จะต้องถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหรือไม่ คดีได้ความว่าศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดีตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 12 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 โจทก์ได้ขออนุญาตใช้บันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลลำดับที่ 3 ถึงที่ 5 ตามบัญชีระบุพยานโจทก์ลงวันที่ 19 มิถุนายน2543 ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานต่อศาลพร้อมทั้งให้ส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันนัดพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน และนัดสืบพยานโจทก์กับพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 29 สิงหาคม 2543 เวลา 13.30นาฬิกา แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำของนายธีรรัช วิวัฒนวงศ์ และนายสมศักดิ์ทะวงษ์ ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 และไม่ปรากฏว่าโจทก์ส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองตามคำสั่งศาล แต่ในวันนัดพิจารณาโจทก์มีพยานบุคคลมาศาลคือนายธีรรัชและนายสมศักดิ์ เห็นว่า การที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 14 วรรคสอง และคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องการยื่นบันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลต่อศาลพร้อมทั้งส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้จำเลยทั้งสองก่อนวันนัดพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน ย่อมทำให้โจทก์มิได้รับประโยชน์ในกระบวนพิจารณาส่วนนี้ โดยศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่ยอมรับบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแทนการซักถามพยานโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีผลให้ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยตามที่นัดไว้ ซึ่งโจทก์ได้นำพยานบุคคลคือ นายธีรรัชและนายสมศักดิ์มาศาลด้วยแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานมาศาล ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share