คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญา กฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่อย่างใดเพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าคำซัดทอดนั้นมิได้เกิดจากเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้ประโยชน์จากการซัดทอดนั้น ด้วย ในชั้นสอบสวน ไม่มีการกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่ อ. ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างว่า อ. ทราบดีว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติถือได้ว่า อ. เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย เกิดจากความเข้าใจของจำเลยมิได้เกิดจากการสอบสวน อ. จึงมิใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้ คำเบิกความของ อ. ไม่ถือเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิด
ขณะเกิดเหตุ ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย จึงมีสภาพเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 4(1) การที่จำเลยได้ว่าจ้าง ส. นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันดินในที่ดินที่เกิดเหตุ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันก่นสร้างแผ้วถาง อันเป็นการทำลายป่าและยึดถือครอบครองป่าและยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ได้มีการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาเข้าด้วยกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 851/2539 หมายเลขแดงที่ 661/2541 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดในศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกา คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบของกลาง กับให้จำเลยและบริวารออกจากป่าที่เกิดเหตุ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี (ที่ถูก 72 ตรี วรรคหนึ่ง), 74 ทวิ จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง กับให้จำเลยและบริวารออกจากป่าที่เกิดเหตุ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจทวีและจ่าสิบตำรวจชยันต์ผู้ร่วมจับกุมนายสุวิวัฒน์มาเบิกความยืนยันตรงกันว่า ได้ไปจับกุมนายสุวิวัฒน์ขณะกำลังขับรถแทรกเตอร์ไถดันดินในดินที่เกิดเหตุ สอบถามนายสุวิวัฒน์ นายสุวิวัฒน์บอกว่าได้รับการว่าจ้างมาจากจำเลย และโจทก์มีนายอาวุธ เรืองฤทธิ์ ซึ่งเป็นนายหน้ารับติดต่อไถพรวนดินโดยรถแทรกเตอร์มาเบิกความสนับสนุนว่าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยได้มาติดต่อกับนายอาวุธให้นำรถแทรกเตอร์ไปไถดันดินซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นของจำเลยโดยจำเลยได้พานายอาวุธและนายสุวิวัฒน์ซึ่งเป็นผู้ขับรถแทรกเตอร์ไปชี้แนวเขตที่ดินที่จะว่าจ้างให้ไถดันดินด้วย จำเลยฎีกาว่านายอาวุธทราบดีว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถือได้ว่านายอาวุธเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยคำเบิกความของนายอาวุธจึงเป็นคำซัดทอดผู้ต้องหาด้วยกันไม่มีน้ำหนักให้รับฟังส่วนคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจทวี และจ่าสิบตำรวจชยันต์เกี่ยวกับเรื่องจำเลยเป็นผู้จ้างนายสุวิวัฒน์ให้ไถดันดินบริเวณที่เกิดเหตุถือเป็นพยานบอกเล่าต้องห้ามตามกฎหมายมิให้รับฟัง พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า ในคดีอาญา กฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าคำซัดทอดนั้นมิได้เกิดจากเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามในชั้นสอบสวนคดีนี้ไม่มีการกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอาวุธแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ว่านายอาวุธทราบดีว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็เกิดจากความเข้าใจของจำเลยเองมิได้เกิดจากการสอบสวน นายอาวุธจึงมิใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้ คำเบิกความของนายอาวุธจึงไม่ถือว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดคดีนี้ ส่วนคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจทวีและจ่าสิบตำรวจชยันต์พยานโจทก์ที่เบิกความว่า นายสุวิวัฒน์บอกว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ไถดันดินนั้น แม้จะถือว่าเป็นพยานบอกเล่าในข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยว่าจ้างให้ไถดันดินจริงหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นประจักษ์พยานในข้อเท็จจริงที่ว่า นายสุวิวัฒน์ได้บอกแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้นายสุวิวัฒน์ไถดันดินซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอาวุธ เมื่อทั้งจ่าสิบตำรวจทวี จ่าสิบตำรวจชยันต์และนายอาวุธ ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินที่เกิดเหตุมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จึงมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินที่เกิดเหตุแล้ว ที่ดินที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่เขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุที่ดินที่เกิดเหตุยังเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย จึงมีสภาพเป็นป่า ตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(1) การที่จำเลยได้ว่าจ้างนายสุวิวัฒน์นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันดินในที่ดินที่เกิดเหตุ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกับนายสุวิวัฒน์ได้ร่วมก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการทำลายป่าและยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นเนื้อที่ไม่เกิน 25 ไร่ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าได้มีการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินที่เกิดเหตุดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ ได้ความว่าที่ดินบริเวณเกิดเหตุได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินไว้ก่อนแล้ว นายบรรหารวิทยารัฐ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดกระบี่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เหตุที่มีการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเนื่องจากเป็นที่ดินที่เสื่อมโทรม และมีชาวบ้านเข้าไปครอบครองได้มีการออกหลักฐาน ส.ป.ก. ให้แก่ชาวบ้านที่เข้าครอบครองไปบ้างแล้ว และตามภาพถ่ายบริเวณที่เกิดเหตุหมาย จ.2 แสดงให้เห็นบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์เพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้เห็นเพียง 2 ต้น และกองต้นไม้ที่ถูกไถดันโค่นลงในที่เกิดเหตุเป็นเพียงต้นไม้เล็ก ๆ ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การแผ้วถาง ก่นสร้างและครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุจึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพป่าเพิ่มขึ้นมากนักจำเลยได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนในท้องถิ่นให้เป็นกำนัน และได้ปฏิบัติหน้าที่กำนันได้สมประโยชน์แก่ทางราชการจนได้รับรางวัล นับว่าเป็นผู้มีคุณความดีต่อท้องถิ่นและทางราชการ จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงสมควรให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยแต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ไม่คิดกระทำผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง

อนึ่ง คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับนายสุวิวัฒน์ได้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วยซึ่งไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(1), 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share