แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จะนำมาใช้กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า และมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หาได้ไม่ หากจำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แม้ยังมิได้จดทะเบียนก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ร่วมผู้ซื้อ และได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๙ เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกพืชและกระท่อมในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของนายประพันธ์ เลาวพงศ์ ผู้เสียหาย จำนวน ๒๐ ไร่ ทั้งนี้ เพื่อยึดถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๖๒, ๓๖๕
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาท ๒ แปลงมีเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) โจทก์ร่วม ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายยอดรัก ทรายแก้ว โดยจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๙ ต่อมาโจทก์ร่วมได้พบเห็นจำเลยที่ ๒ กับพวกปลูกมันในที่ดินพิพาทจึงมอบอำนาจให้นางบรรจง เลาวพงศ์ ภรรยาไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่แตง เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๒๙ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ เข้ามอบตัวสู้คดี พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
โจทก์ร่วมฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองจึงได้ที่ดินพิพาทมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อการได้มาของจำเลยทั้งสองยังมิได้จดทะเบียนจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ร่วม ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ อย่างเช่นโฉนดที่ดินจะใช้กับที่ดินพิพาทคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า มีแต่สิทธิครอบครอง และมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) หาได้ไม่ ดังนั้น ถ้าหากจำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แม้ยังมิได้จดทะเบียน ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ร่วมผู้ซื้อ และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้
พิพากษายืน