แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) บังคับให้ต้องดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านในวันที่ 22 มิถุนายน 2527 ศาลจะต้องกำหนดวันสืบพยานขึ้นใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมายเสียก่อนจะถือเอาวันนัดไต่สวนเดิมคือวันที่ 25 มิถุนายน2527 เป็นวันสืบพยานหาได้ไม่ ดังนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2527 อันเป็นวันนัดไต่สวนไว้เดิมผู้คัดค้านจึงยังมีสิทธิที่จะเสนอคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านต่อศาลได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมา โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายชาญ ลินพิศาล ผู้ตายบิดามารดาของบุคคลทั้งสามได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2527 ขณะมีชีวิตอยู่ผู้ตายป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการหวาดระแวงมาตั้งแต่พ.ศ. 2508 ผู้ตายมีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 16694 ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2516ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่บุตรของผู้คัดค้าน ต่อมาจึงได้จำนองที่ดินแปลงนี้พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้กับผู้ร้อง มรดกของผู้ตายคงมีเฉพาะทรัพย์ที่ติดจำนองผู้ร้องดังกล่าวข้างต้น คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างตามเอกสารหมาย ร.9 เป็นพินัยกรรมปลอมและมีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในเรื่องดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ศาลชั้นต้นได้ประกาศนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 25 มิถุนายน 2527 ผู้ใดจะคัดค้านให้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนวันนัด วันที่ 22 มิถุนายน 2527 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องคัดค้านแล้ว ครั้นถึงวันนัดไต่สวน ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านในข้อที่ว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 3 ว่าพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์หรือไม่ด้วย แล้วทำการไต่สวนพยานผู้ร้องไปในวันนัดไต่สวนนั้น ต่อมาระหว่างไต่สวนพยานผู้ร้อง ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 สิงหาคม 2527 ว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านก่อนวันนัดสืบพยาน จึงให้เพิกถอนประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 และสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านดังกล่าว ต่อมาเมื่อผู้คัดค้านนำพยานเข้าสืบแล้วขอให้ส่งพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 ไปยังกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ เพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ตายหรือไม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) บังคับให้ต้องดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท โดยเมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านในวันที่ 22 มิถุนายน 2527 ศาลจะต้องกำหนดวันสืบพยานขึ้นใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมายเสียก่อน จะถือเอาวันนัดไต่สวนเดิมคือวันที่ 25 มิถุนายน 2527 เป็นวันสืบพยานหาได้ไม่ ดังนั้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2527 อันเป็นวันที่นัดไต่สวนไว้เดิม ผู้คัดค้านจึงยังมีสิทธิที่จะเสนอคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านต่อศาลได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ที่ว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์หรือไม่ โดยอ้างว่าคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านที่ตั้งประเด็นดังกล่าวมิได้ยื่นก่อนวันนัดสืบพยานจึงไม่ชอบและโดยเหตุที่ประเด็นที่ว่าพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างมีผลสมบูรณ์หรือเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่นั้น เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลชั้นต้นยังสืบพยานในประเด็นดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น และศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ชัดในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาท ข้อ 3 ต่อไปให้เสร็จสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี