แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ใบสำคัญคู่จ่ายมีข้อความเพียงว่า ทดรองจ่ายให้คุณสมศักดิ์ (ลูกหนี้) เท่านั้น แม้ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินไว้ด้วย ก็มีความหมายเพียงว่าออกเงินหรือทรัพย์ไปก่อนไม่มีข้อความที่แสดงว่าลูกหนี้ต้องใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืม จะฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่ได้ จึงเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94(1)
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย)ไว้เด็ดขาดเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้กู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104แล้ว สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เจ้าหนี้รายที่ 1 และธนาคารกรุงเทพจำกัด เจ้าหนี้รายที่ 2 โต้แย้งว่าหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักฐานและมูลหนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ อีกทั้งเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อรู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสีย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วฟังว่า ใบสำคัญคู่จ่ายมีลูกหนี้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินโดยไม่มีข้อความแสดงว่าลูกหนี้จะใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้ เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้เสียตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 50,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(2), 130(8)
ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของลูกหนี้ที่ว่า ใบสำคัญคู่จ่ายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า หนังสือหรือเอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอันจะนำไปฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีถ้อยคำหรือใจความแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมกัน การกำหนดให้มีการเสียดอกเบี้ยกัน ก็อาจเป็นถ้อยคำหนึ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะแห่งการกู้ยืมการที่ใบสำคัญคู่จ่ายเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความเพียงว่า ทดรองจ่ายให้คุณสมศักดิ์ (ลูกหนี้) เท่านั้น แม้ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินไว้ด้วยก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าในขณะนั้นลูกหนี้ยังเป็นผู้จัดการของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้อนุมัติการจ่ายเงินและรับเงินเองข้อความที่ว่าทดรองจ่ายก็มีความหมายเพียงว่าออกเงินหรือทรัพย์ไปก่อน หาได้มีความหมายว่ากู้ยืมไม่ ดังนี้เมื่อเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความที่แสดงว่าในการรับเงินจำนวนนั้นลูกหนี้จะต้องใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยกันไว้เป็นลักษณะของการกู้ยืมก็จะฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่ได้หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระจึงเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1) ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของลูกหนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น