คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประเมินราคาอะไหล่รถยนต์ซึ่งเป็นของเทียม โดยวิธีลดราคาลงจากราคาของแท้ของรถรุ่นเดียวกันที่มีเมืองกำเนิดญี่ปุ่นร้อยละสามสิบเจ็ดตามคำสั่งกองประเมินอากรที่ 14/2520 นั้น จะต้องเป็นอะไหล่ของรถรุ่นเดียวกันที่มีเมืองกำเนิดญี่ปุ่น เมื่อไม่ปรากฏว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นอะไหล่ของรถรุ่นเดียวกับอะไหล่แท้ที่จำเลยนำมาเปรียบเทียบเพื่อประเมินราคาสินค้า ทั้งไม่ได้ความว่าสินค้าพิพาทใช้กับรถยนต์อะไร ราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ซึ่งตรงกับเลตเตอร์ออฟเครดิต บัญชีราคาสินค้าและหลักฐานการชำระเงิน จึงเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาด
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและมีสิทธิเรียกคืนหรือไม่ เนื่องจากโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรนั้น แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นสาระแก่คดีอันควรวินิจฉัย จำเลยย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
การโต้แย้งการประเมินต่ออธิบดีกรมศุลกากร ไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเฟืองสตาร์ตเครื่องยนต์จากประเทศไต้หวันเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และใช้ราคาซื้อขายอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเสียภาษีอากร ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล และได้วางเงินประกันไว้อีก ๔๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยกำหนดราคาสินค้าดังกล่าวขึ้นใหม่ แล้วคำนวณเรียกเก็บภาษีอากร ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ทำให้โจทก์ต้องชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มขึ้นอีก ๑๒๙,๕๗๗ บาท ราคาสินค้าที่จำเลยกำหนดขึ้นใหม่ไม่ใช่ราคาซื้อขายกันโดยแท้จริง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีดังกล่าว และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระเพิ่มพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์กับผู้ขายร่วมกันทำเอกสารสำแดงราคาสินค้าให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงอากรขาเข้า สินค้าที่โจทก์นำเข้าไม่มีตัวแทนจำหน่ายในราชอาณาจักร หรือมีผู้ใดแจ้งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดไว้ต่อจำเลย แต่จำเลยประเมินราคาสินค้าพิพาทอย่างเดียวกับของเทียม โดยลดให้ร้อยละสามสิบเจ็ดของราคาของแท้ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การที่จำเลยนำราคาดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน ๑๒๙,๕๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนางสาวสุวิมล ธุรกิจประกรเป็นพยานเบิกความว่า สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อยี่ห้อซินซิน ก่อนซื้อผู้ขายได้มีหนังสือระบุรายการสินค้า จำนวนเงิน การส่งและการบรรจุว่ามีจำนวน ๑,๒๐๙ ชิ้น ราคา ๔,๗๕๐.๕๔ ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาตามหนังสือโปรฟอร์มาอินวอยซ์เอกสารหมาย จ.๒ โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามเอกสารหมาย จ.๓ บัญชีราคาสินค้าที่ซื้อขายเอกสารหมาย จ.๔ และการชำระเงินตามเอกสารเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.๖ ตลอดจนใบเสร็จรับเงินที่ธนาคารมหานคร จำกัด ออกให้ตามเอกสารหมาย จ.๗ ต่างระบุราคาสินค้าพิพาทไว้เท่ากับราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดโดยนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณภาษีอากร ส่วนจำเลยมีนายศิริพันธ์เกียรติไกรกุล ซึ่งเป็นผู้ประเมินสินค้าพิพาทเบิกความว่าได้นำราคาสินค้าพิพาทไปเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันซึ่งเป็นของแท้และมีกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นยี่ห้อนิปปอน เดนโซ่ เอ็นดีและฮิตาชิ ซึ่งได้แจ้งราคาไว้ตามเอกสารหมาย จ.๕, จ.๖ และ จ.๗ โดยให้ส่วนลดร้อยละ ๓๗ ของราคาดังกล่าวทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งกองประเมินอากรที่ ๑๔/๒๕๒๐ เรื่อง แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่การประเมินตามเอกสารหมาย ล.๒ และ ล.๓ ข้อ ๑๒.๑ โดยนายศิริพันธ์ได้บันทึกการเปรียบเทียบสินค้าพิพาทกับสินค้าของ นิกโก้ ฮิตาชิและ เอ็นดี ไว้ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๘ เห็นว่า ตามคำสั่งกองประเมินอากรที่ ๑๔/๒๕๒๐ เรื่อง แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประเมินอากรเอกสารหมาย ล.๒ และ ล.๓ ข้อ ๑๒.๑ ระบุไว้ว่า “กรณีเป็นอะไหล่รถยนต์… ให้ประเมินราคาโดยลดจากราคาของแท้ของรถรุ่นเดียวกันที่มีเมืองกำเนิดญี่ปุ่นร้อยละสามสิบเจ็ด” นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อะไหล่รถยนต์ซึ่งเป็นของเทียมที่จะนำมาประเมินโดยลดราคาลงนั้นจะต้องเป็นอะไหล่ของรถรุ่นเดียวกันที่มีเมืองกำเนิดญี่ปุ่น แม้จำเลยจะนำสินค้าพิพาทมาเปรียบเทียบกับอะไหล่แท้ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.๘ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสินค้าพิพาทเป็นอะไหล่ของรถรุ่นเดียวกับอะไหล่แท้ที่นายศิริพันธนำมาเปรียบเทียบทั้งไม่ได้ความว่าสินค้าพิพาทใช้กับรถยนต์อะไรพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์มีความสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.๑ เป็นราคาแท้จริงในท้องตลาด จำเลยประเมินราคาสินค้าพิพาทขึ้นใหม่จึงไม่ชอบ
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและไม่มีสิทธิเรียกคืนเพราะโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร และโจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพิ่งจะยกขึ้นมาในชั้นฎีกา ไม่สมควรที่จะรับฟังฎีกาจำเลยข้อนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย การที่จำเลยประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งการประเมินต่ออธิบดีกรมศุลกากรไว้ตามหนังสือลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๒๗ เรื่อง อุทธรณ์การตีราคาสินค้าเพิ่มเอกสารหมาย ล.๑๑ ก็ไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลคืนจากจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรขาเข้าจำนวน ๙๓,๓๑๐.๖๖ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share