แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือนอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับเป็นการขยายเวลาตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 91 ออกไป ซึ่งเจ้าหนี้อื่นและลูกหนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2583 มาตรา 27 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหน้าที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ตาม” ส่วนจะยื่นเมื่อใดนั้นมาตรา 91 มีความว่า เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เว้นแต่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน กรณีนี้ได้ความว่า นายวรวิทย์ วงศ์วรวิทย์ ได้ยื่น คำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันโดยสุจริต เห็นว่า บทบัญญัติในกฎหมายล้มละลายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้คือเจ้าหนี้ไม่ต้องฟ้องคดีเองทุกคน มีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวก็พอ เจ้าหนี้ นอกนั้นให้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ เป็นการประหยัดค่าฤชาธรรมเนียมศาล ส่วนลูกหนี้มีทางประนอมหนี้สินได้ง่าย เพื่อลูกหนี้ที่สุจริตมีโอกาสตั้งตัวใหม่ได้โดยเร็ว ถ้าให้เจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอได้เกินกำหนดของเดือนก็เท่ากับเป็นการขยายเวลาตามมาตรา 91 ออกไปซึ่งเจ้าหนี้อื่นและลูกหนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้”
พิพากษายืน