คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า “วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า “ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง” เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18
ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วแม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า “เวสเซล” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า “เวสเซลล์” แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน “S” ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบ ส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าวางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน “S” บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า “VESCELL”และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน “V” และ “C” บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากับยาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/3367 และ พณ 0704/3347 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 717/2555 และ 718/2555 ให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 763966 และเลขที่ 763968 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/3367 และ พณ 0704/3347 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 717/2555 และ 718/2555 เฉพาะประเด็นข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และประเด็นข้อที่ว่าหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาโดยสุจริตหรือเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสมควรพิจารณาอนุญาตจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และมาตรา 27 ให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 763966 และเลขที่ 763968 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 763966 และเลขที่ 763968 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกัน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยที่ 717/2555 และ 718/2555 ยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และหลักฐานไม่เพียงพอแสดงว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริตเป็นเวลานานหรือมีพฤติการณ์พิเศษตามมาตรา 27 นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Vessel” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) จึงไม่ชอบที่จะรับจดทะเบียนตามมาตรา 16 อีกด้วย
คดีมีปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยก่อนตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า “วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า “ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง” เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะดังกล่าวคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัยดังกล่าว การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 101 วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18 ดังกล่าว คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 763966 และเครื่องหมายการค้าตามคำจดทะเบียนเลขที่ 763968 ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 658384 ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 763966 และเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 763968 ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 658384 ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว แม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า “เวสเซล” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า “เวสเซลล์” แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 763966 เป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน “S” ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 763968 เป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 763966 วางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน “S” บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 658384 ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า “VESCELL”และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน “V” และ “C” บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 658384 ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกันโดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ายาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์ สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 อีกต่อไปเพราะกรณีที่ต้องด้วยมาตรา 27 ดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 717/2555 และ 718/2555 ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share