คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่ให้ ช. และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น จำเลยฟ้อง ช. คนเดียวมิได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องเข้ามาต่อสู้คดีแต่อย่างใด คดีดังกล่าวมีประเด็นตามฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือ ช. ปรากฏว่า ช. ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยให้ขับไล่ ช. และบริวาร แต่คดีนี้โจทก์ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเดิมยื่นฟ้องจำเลยว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้องประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้จึงมีว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีเดิม เมื่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการครอบครองของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้ ไม่เป็นการขัดกับคำพิพากษาในคดีเดิมแต่อย่างใดเพราะแม้จะฟังตามคำพิพากษาในคดีเดิมว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมิใช่ของ ช. แต่จำเลยก็อาจจะเสียสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้ทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมได้
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ที่กำหนดให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศนั้น มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าถ้าโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. ไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้นแล้ว โจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. จะต้องเป็นบริวารของ ช. สถานเดียว เพียงแต่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นบริวารของ ช. เท่านั้น แต่หากโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. มีหลักฐานแสดงว่าตนไม่ใช่บริวารของ ช. แล้ว ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของตนได้ว่าตนไม่ใช่บริวารของ ช. แม้จะล่วงเลยเวลาแปดวันแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นมิใช่ระยะเวลาสิ้นสุด เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจะทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะฟ้องร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ช. เสียภายในแปดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ช. ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลจึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ต้องเป็นบริวารของ ช. หรือโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทดังที่จำเลยฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 287 ตำบลเขาน้อย (ปัจจุบันตำบลหนองตาแต้ม) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 24 ไร่ 13 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง และขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินโดยการเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นชื่อโจทก์หากจำเลยไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้การฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 24 ไร่ 13 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 287 ตำบลเขาน้อย (ที่ถูก ปัจจุบันตำบลหนองตาแต้ม) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 24 ไร่ 13 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดเลขที่ 287 ตำบลเขาน้อย (ปัจจุบันเป็นตำบลหนองตาแต้ม) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 676 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 737/2535 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เดินนางแช่ม ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ น.ส.3 เลขที่ 164 ในปี 2521 แต่ต่อมาปี 2526 ทางอำเภอปราณบุรีได้แจ้งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตามคำขอร้องเรียนของจำเลย ปี 2535 หลังจากจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 287 มาจากบริษัทอุตสาหกรรมเพชรบุรี จำกัด ในปี 2509 แล้ว จำเลยได้ยื่นฟ้องขับไล่นางแช่มออกไปจากที่ดินพิพาทนางแช่มขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ผลคดีศาลพิพากษาให้นางแช่มและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 737/2535 ของศาลชั้นต้น นอกจากนั้นในปีเดียวกันจำเลยยังยื่นฟ้องขับไล่นางวิเชียรผู้ครอบครองที่ดินในเขตโฉนดเลขที่ 287 เป็นเนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 165 ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ดินที่นางแช่มครอบครองออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 287 ด้วย หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว ก็มีคำสั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้เพิกถอนเช่นเดียวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 164 แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า นางวิเชียรได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 34/2538 ของศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสำหรับที่ดินพิพาทคดีนี้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปเป็นข้อแรกได้ว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือว่าโจทก์จะรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางวิเชียรเมื่อปี 2525 เพราะในปีดังกล่าวโจทก์ยังมีอายุเพียง 13 ปี และไม่น่าเชื่อว่านางแช่มเจ้าของที่ดินเดิมจะขายที่ดินพิพาทให้แก่นางวิเชียรเพราะตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ระบุชื่อนางแช่มเป็นผู้ชำระ สำหรับปัญหาว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางวิเชียรหรือไม่นั้น โจทก์มีตัวโจทก์และนายชัชชัยกับน้องชายโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า นางวิเชียรได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์เมื่อปี 2525 โจทก์ได้ใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกสับประรดและเผือกโดยสงบและเจตนาเป็นเจ้าของนายชัชชัยก็ยังร่วมทำประโยชน์กับโจทก์โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ และโจทก์มีนายสำเริงกับนางสมสมร มาเบิกความสนับสนุนว่า นายสำเริงและนายเสรีสามีของนางสมสมรเคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทำไร่ โดยนายสำเริงเบิกความว่าเช่าตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2540 ในราคาไร่ละ 500 บาท ส่วนนายเสรีเช่าเมื่อปี 2545 ในอัตราค่าเช่าปีละ 15,000 บาท ระหว่างที่นายสำเริงเช่าทำประโยชน์นั้นไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่ในปีที่นายเสรีเช่ามีนายสมานพนักงานของบริษัทจำเลยมาบอกว่าบริษัทจำเลยชนะคดีแต่นางสมสมรก็บอกว่าได้เช่าที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายบุญมาผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลหนองตาแต้ม ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งของที่ดินพิพาทมาเบิกความอีกว่า พยานเห็นโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยมีนางสมานผู้ดูแลไร่ของจำเลยเป็นพยานปากเดียวเบิกความเพียงว่าจำเลยได้ฟ้องขับไล่นางแช่มออกจากที่ดินพิพาทและมีการบังคับคดีแล้วเท่านั้น โดยมิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์มาจากมารดาแต่อย่างใด ทั้งทนายจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ที่โจทก์นำเข้าสืบในประเด็นดังกล่าวให้ฟังข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับโอนการครอบครองที่ดินพิพาทมาจากนางวิเชียรจริง แม้ขณะรับโอนโจทก์จะมีอายุ 13 ปี ดังที่จำเลยฎีกาก็ตามเพราะการครอบครองทำประโยชน์มิได้จำกัดว่าโจทก์ต้องลงไปทำด้วยตนเองเสมอไป อาจจะมีผู้อื่นช่วยจัดการหรือดำเนินการแทนก็ได้ ส่วนปัญหาว่านางแช่มเจ้าของเดิมขายที่ดินพิพาทให้แก่นางวิเชียรหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่านางแช่มไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นางวิเชียร การฎีกาว่าพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางแช่มกับนางวิเชียรจึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีทั้งๆ ที่จำเลยเคยฟ้องขับไล่นางแช่มเจ้าของที่ดินเดิมและบริวารออกจากที่ดินพิพาทซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดีและคดีจึงที่สุดไปแล้วนั้นเป็นการชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกา จำเลยฟ้องนางแช่มเมื่อปี 2535 หากโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจริง โจทก์ก็ต้องเข้ามาต่อสู้คดี และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องมาคัดค้านภายในแปดวันก็ไม่มีผู้ใดมาคัดค้าน เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 534/2535 หมายเลขแดงที่ 737/2535 ที่จำเลยฟ้องขับไล่ให้นางแช่มและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น จำเลยฟ้องนางแช่มคนเดียวมิได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ด้วย โจทก์จึงไม่จำต้องเข้ามาต่อสู้คดีแต่อย่างใด คดีดังกล่าวมีประเด็นตามฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือของนางแช่ม ปรากฏว่านางแช่มขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัพพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยให้ขับไล่น่างแช่มและบริวาร แต่คดีนี้โจทก์ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเดิมยื่นฟ้องจำเลยว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้จึงมีว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีเดิม เมื่อศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการครอบครองของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้ ไม่เป็นการขัดกับคำพิพากษาในคดีเดิมแต่อย่างใดเพราะแม้จะฟังตามคำพิพากษาในคดีเดิมว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมิใช่ของนางแช่ม แต่จำเลยก็อาจจะเสียสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้ทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนางแช่มยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่นางแช่มก็ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านนั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่กำหนดให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศนั้น มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าถ้าโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนางแช่มไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้นแล้ว โจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนางแช่มจะต้องเป็นบริวารของนางแช่มสถานเดียว เพียงแต่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นบริวารของนางแช่มเท่านั้น แต่หากโจทก์หรือผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนางแช่มมีหลักฐานแสดงว่าตนไม่ใช่บริวารของนางแช่มแล้ว ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของตนได้ว่าตนไม่ใช่บริวารของนางแช่ม แม้จะล่วงเลยเวลาแปดวันแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นมิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งจะทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะฟ้องร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่นางแช่มเสียภายในแปดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนางแช่มยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ต้องเป็นบริวารของนางแช่มหรือโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share