แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นการขอให้แก้ไขหรือยกเลิกมติของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล ก่อนที่จะมีการอุทธรณ์ตามพ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56 เป็นการข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายประวิทย์ จิตร์อำพัน ทำสัญญาจะซื้อขายที่นาเนื้อที่ 10 ไร่เศษ ให้โจทก์ในราคา 225,000 บาท ในวันทำสัญญานายประวิทย์รับเงินมัดจำจากโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท และค่าธรรมเนียม 10,000 บาท ครั้นถึงกำหนดนายประวิทย์ไม่สามารถโอนที่ดังกล่าวให้โจทก์ได้เพราะนายประวิทย์ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าเสนอตนยอมรับว่าได้มอบอำนาจให้นายประวิทย์ไปทำการขายแทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายประวิทย์สมคบกันให้จำเลยที่ 2 ซื้อเป็นผู้เช่านาพิพาทขออายัดที่ดินแปลงนั้นเพื่อมิให้ขายให้โจทก์และได้สมคบกันจัดให้มีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อให้มีมติให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ซื้อที่ดินได้ก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายกัน โดยจำเลยทั้งสองหวังกำไรจากการขายที่ดินให้บุคคลภายนอกซึ่งได้เงินมากกว่าขายให้โจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าที่ดินดังกล่าวทำนา จำเลยทั้งสองมิได้สมคบกันอายัดที่ดินพิพาท และมิได้สมคบกันยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อมิให้ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 อาศัยสิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต จำเลยที่ 1 มอบให้นายประวิทย์ จิตร์อำพัน บิดาจำเลยที่ 1ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้นายสังวาลย์ คงพุกา บิดาโจทก์ จำนวนไร่ละ 20,000 บาท รับมัดจำไว้ 10,000 บาท และให้ผู้ซื้อไปตกลงกับผู้เช่าเองโดยผู้ขายไม่รับผิดชอบ แต่พอถึงวันนัดบิดาของโจทก์ไม่ได้ไป มีแต่โจทก์และภริยาโจทก์ไปแทน โจทก์ขอลงชื่อเป็นผู้ซื้อแทน นายสังวาลย์บิดาโจทก์และขอให้ภริยาลงชื่อร่วมด้วยจำเลยที่ 1ก็ยินยอมแต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้เพราะเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมทำให้และแจ้งให้ไปตกลงกับจำเลยที่ 2 ซึ๋งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทเสียก่อน ในที่สุดก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดตามสัญญา จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์แล้ว ส่วนเงินมัดจำที่บิดาโจทก์มอบให้บิดาจำเลยที่ 1 มีเพียง 10,000 บาท มิใช่ 20,000บาท เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงริบเงินจำนวนนี้เสียขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่5623 ให้โจทก์ตามฟ้องโดยให้ชำระราคาค่ามัดจำได้เพียง 10,000 บาทหากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1และห้ามจำเลยที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่า ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอน สัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2528 และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นเป็นการขอให้แก้ไขหรือยกเลิกมติของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล ก่อนที่จะมีการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 56 เป็นการข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยเฉพาะคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ดังกล่าวข้างต้นยังเป็นการขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า “ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก. ตำบลเพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวันและถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก.ตำบลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้” และคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทนั้น เป็นการขอให้บังคับโดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จะซื้อที่ดินพิพาทยังมิใช่เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะห้ามจำเลยที่ 2 ตามคำขอของโจทก์ในข้อนี้ด้วยเช่นกันโดยเหตุนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้ออื่นต่อไป และศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็ให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247″
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.