แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่แบ่งแยกโฉนด ล่าช้ากว่ากำหนดตามที่โจทก์นำสืบมิใช่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันดัง ที่จำเลยนำสืบ และการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อหาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ซื้อขายที่ดิน จัดสรรที่ดิน เดิมจำเลยใช้ชื่อว่า บริษัทปัฐวิกรณ์ จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ครั้งแรกเป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์โซเชียลดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ครั้งสุดท้ายเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ชนิดธนพัฒน์ จำกัด เดิมโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินจัดสรรที่ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร จากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทตามผังที่ดิน ผัง ข.หมายเลขที่ดิน 63 จำนวนเนื้อที่ 100 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 550 บาท รวมเป็นเงิน 55,000 บาท กำหนดชำระเงินเป็นงวดมีกำหนดงวดละหนึ่งเดือน เป็นเงินงวดละ 650 บาท ชำระงวดสุดท้าย1,090 บาทโจทก์ได้ชำระให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทไปแล้ว 40 งวดรวมเป็นเงิน 26,000 บาท ต่อมาสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้โอนกิจการจัดสรรที่ดินรวมทั้งแปลงที่ขายให้โจทก์ ให้จำเลยจัดสรรแทนต่อไป ในการรับโอนดังกล่าวจำเลยยอมรับตามข้อตกลงต่าง ๆ ที่โจทก์ได้ทำไว้กับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และให้ถือว่าเงินที่โจกท์ได้ชำระให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จำนวน 40 งวด จำนวนเงิน 26,000บาท เท่ากับโจทก์ได้ชำระให้จำเลยแล้วด้วย ลูกค้าของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทคนอื่น ๆ และโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยใหม่ โดยโจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2516 หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยอีก 22 งวด รวมเป็นเงินที่ได้ชำระไปแล้ว 62 งวด เป็นเงิน 40,300 บาท คงเหลือที่จะต้องชำระอีก 14,700 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้โจทก์ชำระครั้งเดียวทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณสำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยแจ้งครั้งหลังสุดว่าจะจดทะเบียนโอนให้โจทก์ในเดือนมิถุนายน 2523 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้ โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมกับรับเงินส่วนที่เหลือหลายครั้ง ครั้งหลังสุดได้มอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปแทน จำเลยรับหนังสือของทนายโจทก์แล้ว แต่ก็เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือเช่าซื้อผัง ข. เลขที่ 63 ให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อในงวดเดือนใด และงวดสุดท้ายที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยเป็นงวดเดือนไหนฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมและที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในเดือนมิถุนายน 2523 นั้น โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อเอง กล่าวคือเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อ งวดที่ 22 แล้ว โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยเป็นเวลา 3 งวด ติดต่อกันจนปัจจุบันนี้และจำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างอีก 22 งวด เป็นเงิน 14,700 บาท ในวันโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันระงับ เงินที่โจทก์ชำระมาแล้ว จำเลยจึงริบได้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ข้อ 8 โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์อาจจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อผัง ข. เลขที่ 63 ให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์คำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยปราฏกตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่ดินเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้กับคู่สัญญาเดิมไปแล้ว 40 งวด และได้ชำระค่าเช่าซื้อต่อให้กับจำเลยอีก 22 งวด รวมเป็น 62 งวด เป็นเงินทั้งสิ้น 40,300 บาทคงค้างชำระอยู่ 14,700 บาท ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของจำเลยมีเพียงว่าจำเลยผิดสัญยาเช่าซื้อหรือไม่ ปรากกจากคำเบิกความของดจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานว่า ในวันที่โจทก์ไปชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 22 ให้แก่จำเลย โจทก์ได้สอบถามานางจินตนา กรรมการผู้จัดการจำเลยว่า จำเลยจะรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินรายพิพาทให้โจทก์ได้เมื่อใดนางจินตนาตอบว่า ถ้ากลัวจะไม่ได้โฉนดเงินส่วนที่เหลือยังไม่ต้องชำระก็ได้ รอให้จำเลยดำเนินการแยกโฉนดเสร็จเสียก่อนแล้วจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนโฉนดที่ดินพร้อมกับชำระเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือทั้งหมดในคราวเดียวกันโจทก์ก้ตกลง ต่อมาอีกหลายเดือนโจทก์ไม่ได้รับแจ้งจากจำเลย โจทก์จึงได้มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยปรากฏตามหนังสือลงวันที่ 1 ธันวาคม 2520 เอกสารหมาย จ.8 ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้ระบุด้วยว่า โจทก์พร้อมที่จะชำระเงินส่วนที่ยังค้างชำระอีก 14,700 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 10มกราคม 2521 ตอบมาว่า โฉนดจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2521 เมื่อจำเลยได้รับโฉนดมาแล้วจะแจ้งให้ไปรับโอนโฉนดต่อไป ทั้งยังขออภัยในความล่าช้ามาด้วยปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หนังสือเอกสารหมาย จ.9 จะลงชื่อนายกิจจา ไชยกูล ซึ่งมิใช่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย แต่นายกิจจาก็เป้นบุตรของนางจินตนากรรมการผู้จัดการของจำเลย และหัวกระดาษของเอกสารดังกล่าวก็เป็นของจำเลย ประทับชื่อและที่อยู่ของจำเลยตรงที่นายกิจจาลงชื่อ ทั้งเป็นหนังสือแจ้งรายละเอียดที่ดินจัดสรรไปยังบรรดาผู้เช่าซื้อที่ดินของจำเลย มิใช่เจาะจงเฉพาะโจทก์รายเดียว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วจึงเชื่อว่า จำเลยได้มอบหมายให้นายกิจจาเป็นผู้ทำหนังสือโต้ตอบไปยังบรรดาลูกค้าผู้เช่าซื้อที่ดินของจำเลย ซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยตามปกติธุระของจำเลย โดยชี้แจงถึงการที่จำเลยขอผัดผ่อนการโอนโฉนดและขออภัยในความล่าช้าในการแบ่งแยกโฉนด ยิ่งกว่านี้โจทก์ยังเบิกความต่อไปว่า หลังจากโจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.9แล้ว โจทก์ได้ไปติดต่อกับจำเลย จำเลยขอเลื่อนการโอนโฉนดออกไปเป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2523 โจทก์จึงได้บันทึกไว้ที่มุมล่างด้านซ้ายในเอกสารดังกล่าว แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยก็ผิดนัดและไม่ติดต่อกับโจทก์อีก จากพฤติการณ์ดังกล่าวมาแล้วจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลืออีก 14,700 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยเป็นฝ่านผิดสัญญาที่แบ่งแยกโฉนดล่าช้ากว่ากำหนดตามที่โจทก์นำสืบมิใช่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน ดังที่จำเลยนำสืบ และการที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวมาแล้ว หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ดังที่จำเลยฎีกาไม่พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลมั่นคงรับฟังได้มากกว่าพยานจำเลย…”
พิพากษายืน.