คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3268/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เงินค่าครองชีพซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและมีจำนวนแน่นอน จะถือว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ก็ตามแต่เงินบำเหน็จเป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายตอบแทนความดีของลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างได้ทำงานมาด้วยดีตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่กับนายจ้างไม่ใช่เงินซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนายจ้างมีสิทธิที่จะไม่จ่ายหรือจ่ายเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควรนายจ้างจึงมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จอย่างไรก็ได้ไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานการคำนวณ เงินบำเหน็จจะรวมค่าครองชีพด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับของจำเลย ข้อบังคับของจำเลยกำหนดคำว่าเงินเดือนซึ่งเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จว่าให้หมายถึงเงินเดือนสุดท้ายของลูกจ้างประจำ และเงินค่าจ้าง 26 วันสุดท้าย ของลูกจ้างรายวันคำว่า “เงินค่าจ้าง 26 วันสุดท้ายของลูกจ้างรายวัน”ย่อมหมายถึงค่าจ้างรายวันซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับครั้งสุดท้าย 26 วัน รวมกันไม่รวมถึงค่าจ้างอื่นซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับเป็นรายเดือนด้วยค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างรายวันจึงไม่ต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์โดยไม่นำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นฐานคำนวณ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ขาด13,325 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างซึ่งลาออกจากงานนั้นตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้เอาเฉพาะค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นฐานคำนวณเงินค่าครองชีพไม่ใช่เป็นค่าจ้างหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จึงไม่ต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จเพิ่ม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้เงินค่าครองชีพซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและมีจำนวนแน่นอน จะถือว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ก็ตาม แต่เงินบำเหน็จเป็นเงินซึ่งนายจ้างตอบแทนความดีของลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างได้ทำงานมาด้วยดีตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่กับนายจ้าง ไม่ใช่เงินซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนายจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างหรือหากจะจ่ายก็มีสิทธิที่จะจ่ายจำนวนเท่าใดก็ได้แล้วแต่นายจ้างเห็นสมควร กรณีที่นายจ้างตกลงจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างโดยออกเป็นระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ นายจ้างย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ่ายอย่างไรก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ความสำคัญอยู่ที่ว่าตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดมิให้นำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จหรือไม่เห็นว่า ข้อบังคับเรื่องเงินบำเหน็จค่าชดเชยและเงินทดแทน เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 จำเลยได้กำหนดคำว่าเงินเดือนซึ่งเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จไว้ในข้อ 2 ว่า “ให้หมายถึงเงินเดือนสุดท้ายของลูกจ้างประจำ และเงินค่าจ้าง 26 วันสุดท้ายของลูกจ้างรายวัน” คำว่า “เงินค่าจ้าง 26 วันสุดท้ายของลูกจ้างรายวัน”ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าว ย่อมหมายถึงค่าจ้างรายวันซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับครั้งสุดท้าย 26 วัน รวมกัน หากได้รวมถึงค่าจ้างอื่นซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับเป็นเงินเดือนด้วยไม่ เมื่อเงินค่าครองชีพไม่ใช่เป็รค่าจ้างรายวันซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับในแต่ละวัน การคำนวณเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นฐานคำนวณ

พิพากษายืน

Share