คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง การที่จำเลยที่ 2ซึ่งในสัญญาตอนต้นระบุว่าเป็นผู้กู้ลงลายมือชื่อในช่องพยานและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้โดยไม่มีชื่อเป็นผู้กู้ในตอนต้นของสัญญา หาทำให้เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรกไม่ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามข้อความในเอกสารดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันยืมเงินโจทก์ไป 10,000 บาทตกลงให้ดอกเบี้ยเดือนละ 300 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้โจทก์เลย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระ
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินโจทก์ท้ายฟ้องจำเลยที่ 1ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ด้านบน ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้กู้ในช่องผู้กู้ด้านล่าง สัญญากู้ดังกล่าวเกี่ยวกับการซื้อขายหลักอวน โจทก์หลอกลวงจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 11,812 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 สิงหาคม2532) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้ซื้ออวนจากโจทก์เป็นเงิน 6,000 บาท แต่ไม่มีเงินชำระจึงได้ทำสัญญากู้ให้ไว้และในวันทำสัญญาภริยาจำเลยที่ 2ได้รับเงินจากโจทก์อีก 4,000 บาท แต่ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อเป็นผู้กู้แต่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ ส่วนจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้กู้ แต่ได้ลงลายมือชื่อในช่องพยานคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินซึ่งจะนำมาใช้ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งในสัญญาตอนต้นระบุว่าเป็นผู้กู้ลงลายมือชื่อในช่องพยานและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โดยไม่มีชื่อเป็นผู้กู้ในตอนต้นของสัญญาหาทำให้เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรกไม่ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามข้อความในเอกสารดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน.

Share