คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีแรงงาน กรณีที่จำเลยยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จำเลยต้อง กล่าวข้อเท็จจริงเป็นข้อต่อสู้ให้ชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ให้การถึง เหตุแห่งการเลิกจ้างว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ได้ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายของนายจ้างมาโดยตลอด …” นั้นมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายในเรื่องใด และเมื่อใด ดังนั้นการที่ ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ออกปฏิบัติงานตาม หมายกำหนดเดินทางออกต่างจังหวัดตาม ที่จำเลยที่ 1 กำหนดและโจทก์ทำยอดขายไม่ได้ตาม ที่ตกลง ไว้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่มิได้มีปรากฏในคำให้การเมื่อ ศาลแรงงานกลาง นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างแล้ววินิจฉัยว่าไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเมื่อเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ ศาลแรงงานกลาง ยกขึ้นวินิจฉัยไม่อาจนำมาอ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุจะอ้างได้ตาม กฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เป็นข้อเท็จจริงเมื่อ ศาลแรงงานกลาง ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกา ต้อง ย้อนสำนวนไปให้ ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัยก่อน จำเลยจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงระหว่างเดินทางไปขายสินค้าตามจังหวัดต่าง ๆ แก่โจทก์โดย สม่ำเสมอพร้อมกับเงินเดือน จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานขายสินค้าต่างจังหวัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,500 บาท และเบี้ยเลี้ยงระหว่างเดินทางไปขายสินค้าตามจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 25 วันต่อเดือน เดือนละ 8,500 บาท รวมเป็นรายได้ประจำเดือนละ 12,000 บาท ในการเข้าทำงานดังกล่าว โจทก์ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 4217 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานครมอบให้จำเลยที่ 1 ไว้เป็นการค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2531จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 4217ดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า เหตุที่จำเลยที่1 เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ เบียดบังเงินที่เก็บจากลูกค้าของจำเลยที่ 1 ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว และปลอมเอกสาร โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างมาโดยตลอด จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย จำนวนค่าจ้างที่โจทก์นำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนออกจากงาน โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1จำนวน 4,000 บาท และในการเข้าทำงาน จำเลยที่ 1 ได้มอบกระเป๋าหนังราคา 2,000 บาทแก่โจทก์ไปยืมใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบคืนแก่จำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 6,000 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแย้งอีก 300 บาทขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้เงิน 6,300 บาทแก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 6,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 32,000 บาท (หักด้วยหนี้เงิน 4,000 บาทแล้ว)พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองคืนโฉนดเลขที่ 4217 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ คำขออื่นทั้งสองฝ่ายนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำให้การเห็นว่ากรณีที่จำเลยยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จำเลยจะต้องกล่าวข้อเท็จจริงเป็นข้อต่อสู้ให้ชัดแจ้งในคำให้การ แต่คำให้การของจำเลยที่ให้การถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า”การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างมาโดยตลอด…” นั้น มิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในเรื่องใดและเมื่อใด ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ออกปฏิบัติงานตามหมายกำหนดเดินทางออกต่างจังหวัดตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด และโจทก์ทำยอดขายไม่ได้ตามที่ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1 นั้น จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่มิได้มีปรากฏในคำให้การ เมื่อศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างแล้ววินิจฉัยว่าไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงวินิจฉัยนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ เมื่อเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นมาวินิจฉัย ไม่อาจจะนำมาอ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุจะอ้างได้ตามกฎหมาย และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนจำนวนเงินต่าง ๆ ที่โจทก์เรียกร้องมารวมทั้งค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจะเป็นเท่าใดนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในปัญหาดังกล่าวต่อไป
ส่วนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จะนำเงินเบี้ยเลี้ยงจำนวนแ 8,500บาท มาคิดเป็นค่าจ้างไม่ได้ และเงินจำนวนนี้เมื่อใช้จ่ายไปแล้วจะเหลือเดือนละประมาณ 400 บาท เห็นว่า จำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้วว่า เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์โดยสม่ำเสมอพร้อมกับเงินเดือน จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน อันอยู่ในความหมายของคำว่าค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ซึ่งถือเอาวิธีการจ่ายเงินและเงินหรือสิ่งของเป็นสำคัญว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือไม่เท่านั้น มาเป็นหลักในการพิจารณาว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ มิใช่จะต้องพิจารณาว่าลูกจ้างใช้จ่ายเงินนั้นเหลือเท่าใดจึงจะถือว่าส่วนที่เหลือเป็นค่าจ้าง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาปัญหาเรื่องค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share