คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกู้เงินที่มีจำนองเป็นประกัน เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญโดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 หรือจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่นำมาจำนองอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้การจำนองไม่ห้ามเจ้าหนี้ผู้รับจำนองต้องผูกพันที่จะบังคับชำระหนี้เอาเฉพาะทรัพย์สินที่จำนองแต่ทางเดียว
โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยมูลหนี้เดิมคือหนี้ตามสัญญากู้มิได้ฟ้องบังคับโดยอาศัยสัญญาจำนอง ฉะนั้น บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ที่ว่าถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระกันอยู่ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาด จึงนำมาใช้บังคับเกี่ยวกับคดีนี้ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ออกขายทอดตลาด ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จึงนำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 1 อีก 1 แปลงเพื่อขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ร้องขอให้เพิกถอนการยึด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หนี้ตามฟ้องมิใช่เป็นการบังคับจำนอง โจทก์ดำเนินการบังคับคดีถูกต้องแล้ว ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่า โจทก์มีอำนาจยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2434 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วโจทก์ได้บรรยายฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินที่กู้ไปแก่โจทก์ มิได้กล่าวถึงการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาจำนองหรือนำทรัพย์ที่จำเลยนำมาจำนองออกขายชำระหนี้ให้โจทก์แต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องในมูลหนี้เงินกู้ไม่ใช่ฟ้องบังคับจำนอง ลักษณะของการจำนองเป็นการเอาทรัพย์มาตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ สามารถแยกได้เป็นคนละส่วนกับการกู้เงินการกู้เงินที่มีจำนองเป็นประกันเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญโดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 214 หรือจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่นำมาจำนองอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ การจำนองไม่ห้ามเจ้าหนี้ผู้รับจำนองต้องผูกพันที่จะบังคับชำระหนี้เอาเฉพาะทรัพย์สินที่จำนองแต่ทางเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยอาศัยมูลหนี้เดิมคือหนี้ตามสัญญากู้มิได้ฟ้องบังคับโดยอาศัยสัญญาจำนอง ฉะนั้น บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ที่ว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระกันอยู่ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาด จึงนำมาใช้บังคับเกี่ยวกับคดีนี้ไม่ได้ คดีได้ความว่าหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 6261 และได้หักค่าขายที่ดินชำระหนี้ไปแล้ว จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์อยู่คิดถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2521 ตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2524 โดยที่ทนายโจทก์ทนายจำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีลงลายมือรับรองไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่อีกเป็นเงิน 658,066 บาท 29 สตางค์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก โจทก์ก็มีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7434 มาขายทอดตลาดอีกได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาบังคับคดีในชั้นบังคับคดีโดยไม่มีอำนาจ โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 1,800,000 บาท นั้น ปรากฏตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2525 ว่า บุคคลภายนอกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็คือนางบังอรศรี ราชประสิทธิ์ ผู้แทนคนใหม่ของโจทก์ แต่ก็ปรากฏตามคำร้องดังกล่าวด้วยว่า นางบังอรศรีเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจโดยได้ยื่นใบมอบอำนาจยึดทรัพย์ในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงมาด้วย โดยไม่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ชอบอย่างไร จึงรับฟังได้ว่านางบังอรศรีเป็นผู้แทนของโจทก์ที่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 500 บาท แทนโจทก์

Share