คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3261/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลย แต่จำเลยยังครอบครองที่พิพาทอยู่ตลอดมาโดยที่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาจนครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ต่อมาโจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่พิพาทเป็นคดีนี้ ดังนี้เป็นการขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้และไม่เป็นฟ้องซ้ำแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาล เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1167 โดยมอบให้โจทก์ที่ 2 ยึดถือครอบครองใช้งานราชการของโจทก์ที่ 1 เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เมื่อวันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัดตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยกับบริวารได้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย3 หลัง ในส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวมีอาณาเขตที่บุกรุกทิศเหนือและทิศใต้ยาวด้านละ 39 วา ทิศตะวันออกยาว 6.85 วา ทิศตะวันตกยาว 6 วา คิดเป็นเนื้อที่ 250.575 ตารางวา ปรากฏในกรอบสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยกับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการและต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำเพราะโจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่378/2514 ของศาลชั้นต้น โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1167 ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีให้จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทและรื้อสิ่งปลูกสร้างฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวาร และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 1167 ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่250.575 ตารางวา ตามที่ปรากฏในกรอบสีแดงในระหว่างท้ายโฉนด ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประการที่สอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 378/2514 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาหรือไม่ เห็นว่าคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยแต่จำเลยยังครอบครองที่พิพาทอยู่ตลอดมาโดยที่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษา จนครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่พิพาทเช่นนี้เป็นการขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน

Share