คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สามีจำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ แล้วต่อมาสามีถึงแก่กรรม จำเลยเป็นผู้รับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดกของสามีตามคำสั่งศาลจะถือว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาหรือเก็บทรัพย์หรือจัดการทรัพย์(ของโจทก์)ที่สามีได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษา สืบต่อจากสามีไม่ได้ แม้จำเลยจะถือโอกาสที่โฉนดมีชื่อสามีได้ไปขอใบแทนโฉนดอ้างว่าโฉนดเดิมหายแล้วโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ไปตามพฤติการณ์ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาที่จะต้องพิจารณาว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยที่ 1 ภรรยาผู้รับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดกนายทวี ตะเวทีกุล ตามคำสั่งศาล จำเลยที่ 1 ได้ไปขอใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งนายทวีฯ ซื้อให้แก่บริษัทโดยเอาเงินของบริษัทไปซื้อในขณะที่นายทวีฯ เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการบริษัทอยู่ อ้างว่าโฉนดเดิมหาย แล้วได้โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ไป การกระทำของจำเลยดังนี้จะเป็นผิดฐานยักยอกอันต้องอาญาหรือไม่ โดยที่ศาลล่างพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นผิดฐานยักยอก ยกฟ้องโจทก์มาทั้งสองศาล

ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาไม่ได้ความว่าจำเลยได้รับมอบหมายโฉนดหรือที่ดินแต่ประการใด คงได้ความแต่เพียงว่านายทวีสามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโฉนดที่ดินมา ต่อมานายทวีถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกได้ไปขอใบแทนโฉนดอ้างว่าโฉนดหายแล้วโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ไป แม้ตามฟ้อง โจทก์ก็กล่าวแต่ว่า”จำเลยมีหน้าที่ถือทรัพย์ของโจทก์สืบต่อจากนายทวีและมีหน้าที่เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของนายทวีตามคำสั่งศาล แล้วมีเจตนาทุจริตยักยอกเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้กล่าวว่ารับมอบหมายอย่างใด พฤติการณ์เท่าที่กล่าวจะถือว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาหรือเก็บทรัพย์หรือจัดการทรัพย์ยังไม่ได้เพราะทรัพย์รายนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายทวี หากแต่เป็นทรัพย์ของโจทก์ จำเลยไม่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์รายนี้เป็นแต่จำเลยที่ 1 ถือโอกาสที่โฉนดมีชื่อนายทวี จึงไปขอใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 ไป เมื่อฟังว่าจำเลยไม่ได้รับมอบ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นผิดฐานยักยอก

พิพากษายืน

Share