คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดก ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาท็ก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2528)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนาย ล. และนาง บ. ต่อมาได้หย่าร้างกัน ล. ได้แต่งงานกับนาง ผ. บ. ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ และ ล. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓ โดยมีทรัพย์คือที่ดินนา ๑ แปลง เป็นที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๔๑๕ ที่ดินปลูกบ้าน น.ส.๓ เลขที่ ๔๑๗ ๑ แปลง หลังจากบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วโจทก์และบุตรโจทก์เป็นผู้เข้าทำนามรดกดังกล่าว จำเลยเป็นผู้ผู้จัดการมรดกของ ล. ตามคำสั่งศาลจังหวัดสกลนครคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๕๒/๒๕๒๔ จำเลยไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกทั้งหมดคนละครึ่งถ้าแบ่งไม่ได้ให้เอาทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การว่า ที่ดินสองแปลงตามฟ้องมีชื่อ ล. เป็นเจ้าของส่วนที่ดินปลูกบ้านจำเลยมีอยู่ก่อนแต่งงานกับ ล. บ้านพิพาทจำเลยกับสามีช่วยกันสร้าง หลังจากสามีถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยได้ครอบครองทรัพย์นี้มาแต่ผู้เดียว โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องนับแต่นายลดถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๒ ปี ๖ เดือนแล้ว โจทก์ฟ้องเกิน ๑ ปี คดีขาดอายุความมรดก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาท ๒ แปลงและบ้านออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กันให้จำเลยได้ ๑ ส่วนในฐานะเป็นสินสมรสที่เหลืออีก ๑ ส่วนให้แบ่งเป็น ๓ ส่วนเท่า ๆ กันให้โจทก์ได้รับ ๑ ส่วนโดยให้คู่พิพาทตกลงแบ่งกันเอง ถ้าหากตกลงไม่ได้นำออกขายทอดตลาดได้เงินสดมาเท่าใดแล้วจึงแบ่งให้คู่พิพาทตามส่วนดังได้กล่าวมาแล้ว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยฎีกาว่า ล. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓ จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจนถึงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๔ จำเลยจึงได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลจังหวัดสกลนครในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๕๒/๒๕๒๔ และโอนทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๔ การครอบครองทรัพย์มรดกนับจาก ล. ถึงแก่กรรมจนถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๔ นั้นโจทก์ไม่เคยครอบครองทรัพย์พิพาทร่วมกับจำเลย เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๕ จึงเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ล. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดการ ถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นตั้งแต่ ล.ถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียวดังที่จำเลยฎีกา ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดีถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ล. เจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share