แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์พร้อมอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลไต่สวนและสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว เหตุที่จำเลยยกขึ้นอ้างว่าเพราะเสมียนทนายจำเลยแจ้งต่อทนายจำเลยว่าศาลอนุญาตในการขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สาม ทำให้ทนายจำเลยเข้าใจว่าศาลอนุญาตให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ตามขอ เป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่จะขยายเวลาให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ไต่สวน แต่สั่งยกคำร้องของจำเลยและสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยมานั้นชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่งลงโทษปรับ 90 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 12 ปี ปรับ 90 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 8 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 8 ปี และปรับ 60 บาท ริบอาวุธมีดของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่สองออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2541 ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่สามออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลอนุญาตขยายเวลาให้จำเลยมาสองครั้งแล้ว ข้ออ้างตามคำร้องมิใช่พฤติการณ์พิเศษ แต่เมื่อพิจารณาว่า จำเลยอ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่จำเลย จึงอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยเป็นครั้งสุดท้าย โดยให้จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 26 ตุลาคม 2541 ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์และขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องเป็นการขอขยายเวลาเพื่อยื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาที่ศาลอนุญาตขยายไว้ให้แล้ว และเหตุตามคำร้องมิใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงไม่มีเหตุที่จะไต่สวนและอนุญาตตามที่ขอ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลอนุญาตขยายไว้ให้แล้ว จึงไม่รับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทั้งคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นชอบแล้วให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 16 ตุลาคม 2541 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 3 ออกไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2541 แต่ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2541 โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 มายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์พร้อมอุทธรณ์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 โดยขอให้ศาลไต่สวนและสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว เหตุที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างว่าเพราะเสมียนทนายจำเลยที่ 1 แจ้งต่อทนายจำเลยที่ 1 ว่าศาลอนุญาต ในการขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สามทำให้ทนายจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าศาลอนุญาตให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์อีก 15 วัน ตามขอนั้นเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 เอง กรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่จะขยายเวลาให้จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนแต่สั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน