แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ไว้ 2 ข้อ ดังนี้ 1. ข้อตกลงโอนชำระหนี้ตามบันทึกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 และ 16 เป็นโมฆะ เพราะคู่กรณีจัดการ แก่ทรัพย์จำนองผิดไปจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วย การบังคับจำนอง และเป็นกรณีที่จำเลยยอมรับเอาทรัพย์สินอื่น แทนการชำระหนี้เงินกู้ โดยไม่ได้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระ เป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สิน ในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ และ 2. ข้อตกลงการโอนชำระหนี้ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17 เป็นโมฆะ เพราะจำเลย รับเอาทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้เงินกู้โดยไม่ได้คิดเป็น หนี้เงินค้างชำระเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาด แห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อนี้คู่ความยังเถียงกันอยู่ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงขอสืบพยานเพื่อแสดงให้เห็นว่า ในขณะโอนนั้นทรัพย์ที่โอนมีราคาท้องตลาดสูงกว่าราคาที่จำเลย รับโอน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นได้ปฏิเสธไม่สืบพยาน ตามที่โจทก์ร้องขอแล้วพิพากษาคดีไปโดยมิได้ฟังข้อเท็จจริง ให้ครบถ้วนเสียก่อน เป็นการมิชอบ กรณีจึงมีเหตุอันสมควร ที่จะให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในประเด็นข้อพิพาท ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กู้เงินจำเลย 4 ครั้ง เมื่อวันที่20 สิงหาคม 2534 จำนวนเงิน 700,000 บาท วันที่ 1 ตุลาคม 2534จำนวนเงิน 1,000,000 บาท วันที่ 5 มิถุนายน 2535 จำนวนเงิน5,000,000 บาท และวันที่ 12 มิถุนายน 2535 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันทุกครั้ง กำหนดเวลาจำนองไว้ 1 ปี ส่วนโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2535 กู้เงินไปจากจำเลย 2,500,000 บาท และนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกัน กำหนดเวลาจำนองไว้ 1 ปีเช่นกัน ต่อมาจำเลยบีบบังคับให้โจทก์ทั้งสองโอนหลักประกันและขายหลักประกันดังกล่าวทั้งหมดชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ทั้งสอง ตามบันทึกข้อตกลงการโอนชำระหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15, 16 และสัญญาขายที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17 ซึ่งผิดไปจากบทกฎหมายว่าด้วยการบังคับจำนองและเป็นการที่จำเลยรับเอาทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้เงินกู้โดยไม่ได้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของทรัพย์นั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบอันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 และ 656 นิติกรรมการโอนชำระหนี้และการขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามสัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการโอนชำระหนี้ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 และนิติกรรมการโอนชำระหนี้ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16 เป็นโมฆะ นิติกรรมซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17 เป็นโมฆะให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผูกพันตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม และ 1 ตุลาคม 2534 กับฉบับลงวันที่ 5, 12 มิถุนายนและ 14 กันยายน 2535
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยบีบบังคับให้โจทก์ทั้งสองทำข้อตกลงก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระ แต่เป็นความประสงค์ของโจทก์ทั้งสองที่จะไถ่ถอนจำนองและตกลงขายทรัพย์ที่จำนองให้แก่จำเลยโดยสุจริต จึงเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การและพยานเอกสารที่คู่ความอ้างส่งพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันชี้สองสถานศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 2 ข้อ ดังนี้ 1. ข้อตกลงโอนชำระหนี้ตามบันทึกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 และ 16 เป็นโมฆะเพราะคู่กรณีจัดการแก่ทรัพย์จำนองผิดไปจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการบังคับจำนองและเป็นกรณีที่จำเลยยอมรับเอาทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้เงินกู้โดยไม่ได้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ และ 2. ข้อตกลงการโอนชำระหนี้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17 เป็นโมฆะเพราะจำเลยรับเอาทรัพย์สินอื่นแทนการชำระหนี้เงินกู้โดยไม่ได้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาททั้งสองข้อนี้คู่ความยังเถียงกันอยู่ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงขอสืบพยานเพื่อแสดงให้เห็นว่า ในขณะโอนนั้นทรัพย์ที่โอนมีราคาท้องตลาดสูงกว่าราคาที่จำเลยรับโอน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นได้ปฏิเสธไม่สืบพยานตามที่โจทก์ร้องขอ แล้วพิพากษาคดีไปโดยมิได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน เป็นการมิชอบ กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยตามประเด็นข้อพิพาทแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี