แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา371ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนั้นอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา193ทวิการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดรวมถึงอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาความผิดตามมาตรา371ด้วยโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา193ตรีบัญญัติไว้จึงเป็นการไม่ชอบศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าวความผิดในข้อหาดังกล่าวย่อมยุติเพียงศาลชั้นต้นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา221หาได้ไม่เพราะมิใช่กรณีฎีกาของจำเลยต้องห้ามฎีกาตามมาตรา218,219และ220การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาทั้งหมดจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 271ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8), 371 ฐานพาอาวุธ ปรับ 100 บาท ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี รวมลงโทษจำคุก 2 ปีปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 50 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยใช้อาวุธมีดยาวถึง 56 เซนติเมตร ฟันผู้เสียหายถึง 2 ทีหากผู้เสียหายไม่ยกมือปกป้องอาจได้รับบาดเจ็บมากกว่านี้พฤติการณ์จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ขอให้กำหนดโทษน้อยลงและรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนั้น อัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองรวมถึงอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี บัญญัติไว้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าว ความผิดในข้อหาดังกล่าวย่อมยุติเพียงศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 หาได้ไม่ เพราะมิใช่กรณีฎีกาของจำเลยต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218, 219 และ 220การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาทั้งหมดจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 เท่านั้น ซึ่งจำเลยฎีกาขอให้กำหนดโทษจำเลยน้อยลงและรอการลงโทษเห็นว่า ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายแถลงว่าได้รับชดใช้เงิน 7,000 บาท จากนางอนงค์นาค อุโลก ญาติของจำเลยแล้วไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย และบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บได้หายสนิทแล้ว ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเพียง 20 ปี อยู่ในวัยคึกคะนองอาจกระทำความผิดโดยขาดความยั้งคิดและไม่ได้คำนึงถึงผลร้ายที่ติดตามมา ประกอบกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 89/2536 หมายเลขแดงที่ 393/2536ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อไปปรากฎว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่อย่างไร จึงต้องถือว่าจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีของสังคมสักครั้งหนึ่งดังนั้น โทษจำคุกที่ศาลล่างกำหนดมานั้นสมควรรอการลงโทษ แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ตลอดเวลาที่รอการลงโทษด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนดเวลาดังกล่าวโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1