แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยรับขนทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฎว่ามีประเพณีการรับขนของทางทะเลที่ถือปฎิบัติกันอยู่ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี ซึ่งในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 จำเลย ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้าที่รับขนได้รับความเสียหายมีกลิ่นปลาบดเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง เมื่อจำเลยไม่สืบพยานจึงต้องฟังว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายนั้น การเรียกค่าเสียหายกรณีรับขนทางทะเลต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด10 ปี จะนำอายุความ 1 ปีตามมาตรา 624 มาใช้บังคับโดยถือว่าเป็นกฎหมายใกล้เคียงไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้าจำนวน 59 ม้วน น้ำหนัก 10.104 เมตริกตัน จากบริษัทเอส เอ็ม อินเตอร์เนชั่ลแนลเทรดดิ้ง จำกัด เป็นการเอาประกันภัยขนส่งทางทะเล โดยมีบริษัทจำเลยกับบริษัทกอเรียชิปปิ้ง จำกัดร่วมกันเป็นผู้ขนส่งจำเลยกับบริษัทดังกล่าวทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าเสียหายมีกลิ่นปลาใช้ตามความประสงค์ไม่ได้ บริษัทออสมิ (มาเลเซีย) เซ็นดิเรียนเบอร์แฮค จำกัด ได้รับโอนใบตราส่งและสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ทำให้แก่ผู้ตราส่งและเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย และโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้จำเลยชดใช้เงิน 108,697.33 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อในการขนส่งความเสียหายเกิดเพราะสภาพสินค้าและเพราะความผิดของผู้ว่าจ้างที่บกพร่องในการบรรจุสินค้า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 แล้ว ประเด็นข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 108,697.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำฟ้อง คำให้การจำเลย และที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้ร่วมกับบริษัทกอเรียชิปปิ้งจำกัด รับจ้างบริษัทเอส เอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนลเทรดดิ้ง จำกัดขนสินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้า จำนวน 59 ม้วน น้ำหนัก 10.104เมตริกตัน โดยเรืออัลแตร์ ออกจากกรุงเทพมหานครประมาณ วันที่15 พฤศจิกายน 2524 ไปยังท่าเรือกลังและหรือเกลัง ประเทศมาเลเซียเพื่อส่งให้แก่บริษัทออสมิ (มาเลเซีย)เซ็นดิเรียน เบอร์แฮด จำกัดเรือแล่นไปถึงท่าเรือกลังหรือเกลัง ประเทศมาเลเซีย ประมาณวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 และสินค้าถูกส่งไปเก็บที่โรงงานของบริษัทออสมิ (มาเลเซีย) เซ็นติเรียน บอร์แฮด จำกัด ผู้รับตราส่งวันที่ 8 ธันวาคม 2524 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้ารายนี้ ปรากฎว่าสินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้าที่จำเลยกับบริษัทกอเรีย ชิป ปิ้ง จำกัด รับขนดังกล่าวได้รับความเสียหายมีกลิ่นปลาบด และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทออสมิ (มาเลเซีย) เซ็นดิเรียน เบอร์แฮด จำกัด ไปแล้วเป็นเงิน 10,730.24 ดอลลาร์มาเลเซีย คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นเป็นเงิน 108,697.33 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีดังต่อไปนี้
ปัญหาข้อแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ โจทก์มีนายสุขุม สาริสะ เจ้าหน้าที่ประเมินความเสียหายสินค้าของโจทก์เบิกความว่า โจทก์จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและตั้งให้นายพิชัย จุฬาโรจน์มนตรี เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 โจทก์มอบอำนาจให้นายพิชัย ฟ้องคดีให้ด้วย จำเลยไม่สืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยหรือไม่เพียงใด เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีรับขนของทางทะเล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่า รับขนของทางทะเลให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับ และไม่ปรากฎว่ามีประเพณีการรับขนของทางทะเลที่ถือปฎิบัติกันอยู่จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี ซึ่งในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือเรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เกิดสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้ตราส่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้าที่จำเลยกับบริษัทกอเรียชิป ปิ้ง จำกัด ร่วมกันรับขน ได้รับความเสียหายมีกลิ่นปลาบดเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่ง หรือผู้รับตราส่ง เมื่อจำเลยไม่สืบพยานจึงต้องฟ้องว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและบริษัทกอเรีย ชิปปิ้ง จำกัดนำสินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้าไปเก็บไว้ใกล้กับสินค้าปลาบด ทำให้มีกลิ่นเหม็นตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้ารายนี้ เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทออสมิ (มาเลเซีย) เซ็นติเรียนเบอร์แฮด จำกัด ผู้รับตราส่งแล้วย่อมรับช่วงสิทธิและใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยได้ ข้อเท็จจริงก็ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า สินค้ากระดาษทิชชูเช็ดหน้าที่โจทก์รับประกัน จำนวน59 ม้วน ได้รับความเสียหายทั้งหมด โจทก์ได้เจรจาขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทออสมิ (มาเลเซีย) เซ็นดิเรียน เบอร์แฮดจำกัด เพียงร้อยละ 40 ของทุนประกันภัย จำนวน 11,615 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คำชำระให้เพียง 10,730.24 ดอลลาร์มาเลเซียซึ่งไม่ใช่จำนวนที่สูงเกินไป โจทก์จึงควรได้รับชำระเงินจำนวนดังกล่าวตามที่ขอมา
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าเมื่อประกาศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการขนของทางทะเลโดยเฉพาะ การเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการรับขนทางทะเลจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี จะนำอายคุวาม 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 มาใช้บังคับโดยถือว่าเป็นกฎหมายใกล้เคียงไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 บัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อสิทธิเรียกร้องคดีนี้เกิดขึ้นยังไม่ถึง 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน