แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสพเมทแอมเฟตามีน ยกฟ้องข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคดีถึงที่สุด โดยที่ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย” มาตรา 27 วรรคหนึ่ง “…เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น…” และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่ส่วนหากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น…” การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสพเมทแอมเฟตามีน จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ในอันที่จะขอให้ริบเงิน 130,000 บาท ของกลาง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบเงิน 130,000 บาท ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 29, 31 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชรร่วมกันจับจำเลยและยึดเมทแอมเฟตามีน จำนวน 195 เม็ด เงิน 130,000 บาท เป็นของกลาง พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพเมทแอมเฟตามีน และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบเงิน 130,000 บาท ให้ตกเป็นของกองทุน ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านทั้งสามได้มาจากการทำไร่ข้าวโพดและขิง มิใช่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งริบเงินของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามมาตรา 29, 31 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ริบเงิน 130,000 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้ริบเงิน 130,000 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชอบหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสพเมทแอมเฟตามีน ยกฟ้องข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คดีถึงที่สุดโดยที่พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดและให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย” มาตรา 27 วรรคหนึ่ง “…เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น…” และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น…” การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสพเมทแอมเฟตามีน จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ในอันที่จะขอให้ริบเงิน 130,000 บาท ของกลาง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบเงิน 130,000 บาท ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ริบเงิน 130,000 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามอีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง