คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เฮโรอีนของกลางอยู่ในกระเป๋าเดินทางของจำเลย จำเลยเตรียม จะนำออกไปนอกราชอาณาจักรไทยพร้อมกับจำเลย โดยจำเลยมีหนังสือเดินทางและตั๋วโดยสารเครื่องบินพร้อมที่จะเดินทางโดยมีกระเป๋าบรรจุเฮโรอีนของกลางไปด้วยเช่นนี้ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเฮโรอีนของกลางอันถือได้ว่าเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่.
เฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 1,297 กรัม ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติ ว่าการผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจะเถียงว่าไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่ายหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท 1 จำนวน 20 ซองมีน้ำหนักรวม 1,401 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 1,297 กรัมไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยได้ส่งเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทยไปเพื่อจำหน่าย แต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยและจับกุมจำเลยได้เสียก่อนขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน 2522 ข้อ 1(1)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบเฮโรอีนและซองแผ่นเสียงที่ใช้ซุกซ่อนเฮโรอีนของกลาง คืนหนังสือเดินทางตั๋วเครื่องบิน บัตรที่นั่งบนเครื่องบิน และป้ายผูกติดกระเป๋าของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 65 วรรคสองประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2)คงจำคุกตลอดชีวิต ริบเฮโรอีนและซองแผ่นเสียงที่ใช้ซุกซ่อนเฮโรอีนของกลาง นอกนั้นคืนเจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิด เหตุที่ของกลางมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยก็เนื่องมาจากจำเลยได้รับจ้างจากเพื่อนชาวฮ่องกงคนหนึ่งให้นำแผ่นเสียงไปส่งที่ประเทศสิงคโปร์ในราคาค่าจ้างห้าหมื่นบาท จำเลยเห็นว่าเป็นรายได้ดีและก็ไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จึงได้รับจ้างดังกล่าว ครั้นเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบของกลางในซองแผ่นเสียงดังกล่าว จำเลยจึงทราบว่าถูกหลอกให้กระทำผิดนั้นเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยเลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ปรากฏว่านายสุรชัย กลับประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ 3กรมศุลกากร จับกุมจำเลยได้พร้อมเฮโรอีนของกลางบรรจุอยู่ภายในซองแผ่นเสียงซึ่งทำช่องลับไว้เป็นพิเศษและแผ่นเสียงดังกล่าวบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางของจำเลย ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ นายสุรชัยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลย ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย คดีฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง ฎีกาจำเลยข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า มีผู้จ้างวานใช้ให้จำเลยนำเฮโรอีนของกลางไปส่งต่อเท่านั้น จำเลยจึงเป็นเพียงผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เห็นว่าเฮโรอีนของกลางอยู่ในกระเป๋าเดินทางของจำเลยจำเลยเตรียมจะนำออกไปนอกราชอาณาจักรไทยพร้อมกับจำเลย โดยจำเลยมีหนังสือเดินทางและตั๋วโดยสารเครื่องบินพร้อมที่จะเดินทางโดยมีกระเป๋าบรรจุเฮโรอีนของกลางไปด้วยเช่นนี้ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเฮโรอีนของกลางอันถือได้ว่า เป็นตัวการในการกระทำความผิดแล้วหาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ศาลฎีกาเห็นว่าเฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 1,297 กรัมซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสองบัญญัติว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนี้ จำเลยจะเถียงว่าไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่ายหาได้ไม่…”
พิพากษายืน

Share