แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าของแท้จริงจะร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 โดยอ้างว่าตนเองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้นเมื่อมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ร้องจึงจะมาร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องไม่ได้.
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ของกลางคดีอาญาตามคำร้องนี้เจ้าพนักงานได้ยึดไว้โดยไม่มีการฟ้องคดีอาญาผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอคืนของกลางไม่ได้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่ารถยนต์บรรทุกหกล้อ คันหมายเลขทะเบียน ๘๐-๐๒๖๖สมุทรสงคราม เป็นของผู้ร้องซึ่งผู้ร้องได้ให้นายกิตติชัยเช่าซื้อไป ต่อมานายกิตติชัยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ร้องจึงได้บอกเลิกสัญญาและติดตามเอารถยนต์คืน แต่ยังไม่สามารถเอาคืนได้ ต่อมาปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ๕ กองกำกับการ๒ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จับกุมนายสุทธิชัยได้พร้อมด้วยของกลาง และรถยนต์ของผู้ร้องในข้อหาความผิดตามพระราชบ้ญญัติศุลกากรด้วยการใช้รถยนต์ของผู้ร้องเป็นยานพาหนะในการบรรทุกสิ่งของโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด นำส่งด่านศุลกากรบ้านดอนดำเนินคดี ต่อมากรมศุลกากรได้มีคำสั่งระงับคดีรับของกลางไว้เป็นของแผ่นดิน และงดเว้นค่าปรับ คดีถึงที่สุดแล้ว โดยมิได้ฟ้องคดีต่อศาล และต่อมานายด่านศุลกากรบ้านดอนได้ปฏิเสธที่จะคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง โดยอ้างว่ารถยนต์เป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ โดยไม่จำต้องมีคดีขึ้นสู่ศาลหรือศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ บัญญัติว่า ‘ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา๓๔ ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด’ ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อความชัดว่า คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะกระทำต่อศาลได้ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา๓๔ ดังนั้น การที่เจ้าของแท้จริงจะร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยอ้างว่าตนเองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้น สำหรับกรณีของผู้ร้องเป็นกรณีที่มิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ร้องจึงจะมาร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องโดยอาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ มิได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.