คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3241/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทำสัญญาให้ ท.จองเซ้งอาคารพิพาทที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างขึ้นในที่ดินราชพัสดุแล้วมีสิทธิให้บุคคลอื่นเช่า ก่อนที่จำเลยจะทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับกระทรวงการคลังผู้ให้เช่านั้น จำเลยหาได้มีสิทธิการเช่าที่จะโอนให้แก่ ท.ได้ไม่ แม้สัญญาระหว่างจำเลยกับ ท.จะระบุว่าเป็นสัญญาจองเซ้งอาคารพร้อมสิทธิการเช่า ก็เป็นเพียงสัญญาจองเซ้งอาคารพิพาทเท่านั้น หาใช่เป็นสัญญาโอนสิทธิการเช่าไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทเสร็จและได้ทำสัญญาเช่ากับกระทรวงการคลังแล้ว จำเลยก็ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ท. เงินที่ ท.ชำระให้แก่จำเลยจึงเป็นเงินค่าจองเซ้งอาคารพิพาทซึ่งคาดว่าจะได้สิทธิการเช่าต่อไปเท่านั้น หาใช่เป็นการชำระค่าโอนสิทธิการเช่าไม่ การที่ ท.เข้าอยู่ในอาคารพิพาทและชำระค่าเช่าให้แก่กระทรวงการคลัง จึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของจำเลยและทำแทนจำเลย ท.จึงไม่ได้สิทธิการเช่าอาคารพิพาท เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้นำสิทธิการเช่าอาคารพิพาทไปวางเป็นประกันหนี้ไว้แก่ผู้ร้อง โดยได้รับความยินยอมจากกระทรวงการคลัง และต่อมาจำเลยได้ตกลงโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวตีใช้หนี้ให้แก่ผู้ร้องโดยชอบแล้ว สิทธิการจองเซ้งอาคารพิพาทระหว่างจำเลยกับ ท.จึงมิใช่สิทธิตามสัญญาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องยอมปฏิบัติ ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้โอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ท.โดยให้ ท.ชำระเงินแก่กองทรัพย์สินของจำเลยเพิ่มขึ้นอีกบางส่วนนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสียได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146

Share