แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จ่าสิบตำรวจ ส. ผู้ล่อซื้อฝิ่นส่งมอบเงินค่าซื้อฝิ่นให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 นับเงินแล้วส่งให้จำเลยที่ 2 ตรวจนับเงินต่อ พร้อมทั้งจำเลยที่ 1 ได้มอบฝิ่นให้แก่จ่าสิบตำรวจ ส. การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันขายหรือจำหน่ายฝิ่นตามความหมายของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 แล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 จำนวน 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิรวม 1,007 กรัม อันเป็นฝิ่นสุกมีปริมาณมอร์ฟีน ร้อยละ 14.1 คำนวณเป็นปริมาณเมอร์ฟีนบริสุทธิ์หนัก 141.9 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับใบอนุญาต จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายฝิ่นดังกล่าวจำนวน 1 ห่อน้ำหนักสุทธิ 964 กรัม อันเป็นส่วนหนึ่งของฝิ่นที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อเป็นเงิน 22,000บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,6, 7, 8, 17, 69, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 3, 4, 6, 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91ริบฝิ่นของกลาง และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำผิดเว้นแต่ธนบัตรของกลางขอให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องลงโทษฐานร่วมกันมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 8 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายอันเป็นยาเสพติดให้โทษจำคุกคนละ 8 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 16 ปี จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์ในการพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามและลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 8 เดือนจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี ริบฝิ่นและอุปกรณ์ในการกระทำความผิดของกลาง ส่วนธนบัตรของกลางที่โจทก์ขอให้คืนแก่เจ้าของนั้นได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวนได้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของไปแล้ว จึงไม่สั่งคืนให้อีก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้ริบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิดให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4 หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสำเริง ชัยชนะสงครามว่าได้ส่งมอบเงินค่าซื้อฝิ่นให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2ยืนอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 นับเงินแล้วส่งให้จำเลยที่ 2 ตรวจนับเงินต่อพร้อมทั้งจำเลยที่ 1 ได้มอบฝิ่นให้แก่จ่าสิบตำรวจสำเริง ผู้ล่อซื้อฝิ่นนั้น เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขายหรือเป็นการจำหน่ายฝิ่นตามความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว
พิพากษายืน.