แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตได้ประมาณ 3 เดือนแล้วจำเลยได้ออกจากบ้านไปโดยมิได้กลับมาอีกเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ทั้งมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรแต่อย่างใดนั้นเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(4) โจทก์ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำเลยรับราชการไม่มีเวลาดูแล รักษาพยาบาลโจทก์ได้ โจทก์จึงนำน้องชายมาอยู่ในบ้านด้วยเพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือดูแล ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุผลอันจำเป็นและสมควรเป็นอย่างยิ่ง การที่น้องชายโจทก์ทะเลาะกับจำเลยและทำร้ายจำเลยนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งจำเลยเองก็มีอำนาจที่จะบอกให้น้องชายโจทก์ออกไปจากบ้านได้ แต่จำเลยก็มิได้กระทำเช่นนั้น กลับออกไปจากบ้านเสียเอง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโจทก์ป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตนเองมิได้และกำลังต้องการความช่วยเหลือจากจำเลยอยู่ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยถือโอกาสละทิ้งร้างโจทก์โดยมิได้ตั้งใจจะอยู่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามความสามารถและฐานะของตน จึงถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าดังกล่าวเป็นเพราะความผิดของจำเลยเองแต่เพียงฝ่ายเดียว และเนื่องจากโจทก์มีอาชีพค้าขายของชำแต่หลังจากป่วยเป็นอัมพาตแล้วโจทก์มิได้ทำมาค้าขายอีก ทำให้ขาดรายได้ต้องอาศัยญาติพี่น้องออกค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูประมาณเดือนละ 1,000 บาท โจทก์จึงมีฐานะยากจนลงเช่นนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์หลังจากหย่าขาดจากกัน จำเลยเป็นข้าราชการมีรายได้เดือนละ 3,425 บาท ที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 700 บาท จึงเหมาะสมดีแล้ว การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสองคู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตาม พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ดังนั้นที่โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ1,500 บาท จนกว่าโจทก์จะทุเลาการเจ็บป่วยหรือมีอาชีพช่วยเหลือตนเองได้
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปีพ.ศ. 2518 ต่อมาปี พ.ศ. 2523 โจทก์นำครอบครัวของน้องชายโจทก์เข้ามาอาศัยอยู่ด้วย จึงเกิดทะเลาะกับจำเลย จำเลยถูกน้องชายโจทก์ทำร้ายร่างกายและได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจ จากนั้นจำเลยก็มิได้กลับเข้าไปที่บ้านของโจทก์อีก โจทก์มีฐานะดี มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาทโจทก์ไม่เดือดร้อน โจทก์เสียค่าเช่าบ้านเดือนละ 800 บาท เสียค่าเงินกินเปล่าปีละ 10,000 บาท ซึ่งเงินเหล่านี้โจทก์หาได้เองโดยไม่เคยขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือทั้งก่อนแต่งงานและหลังแต่งงาน จำเลยเป็นข้าราชการมีเงินเดือนน้อยไม่พอใช้จ่าย ปัจจุบันจำเลยมีเงินเดือนเหลือไม่ถึง 1,000 บาทไม่สามารถที่จะจ่ายให้โจทก์ได้ จำเลยพร้อมที่จะจดทะเบียนหย่าแต่เงินค่าเลี้ยงดู จำเลยไม่มีจ่ายให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์ ถ้าจำเลยไม่ยอมไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 700 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะทุเลาการเจ็บป่วยหรือมีอาชีพช่วยเหลือตนเองได้ หรือจนกว่าจะสมรสใหม่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แต่เพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี พ.ศ. 2518 ดังปรากฏตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2523 โจทก์ไม่ป่วยเป็นอัมพาต และหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน จำเลยได้ออกจากบ้านไปและมิได้กลับมาอีกคิดเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ทั้งมิได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรแต่อย่างใด เป็นการละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิดหนึ่งปีอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(4) ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า เหตุแห่งการหย่าดังกล่าวนั้นเป็นเพราะความผิดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่และการหย่านั้นจะทำให้โจทก์ยากจนลงหรือไม่ ในปัญหาประการแรกจำเลยฎีกาพอสรุปเป็นใจความได้ว่า โจทก์ได้นำนายบุญล้อม นิกรมิตรน้องชายโจทก์เข้ามาอยู่ในบ้านพร้อมกับครอบครัวของนายบุญล้อมนายบุญล้อมไม่ต้องการให้จำเลยอยู่ในบ้านโจทก์และนายบุญล้อมอยากได้ทรัพย์สินของโจทก์จึงได้ทำร้ายร่างกายจำเลย จำเลยได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจแล้วจำเลยก็ออกจากบ้านไป เพราะถ้าขืนอยู่ต่อไปก็ไม่มีความสุขในครอบครัว ทั้งโจทก์เองก็มิได้ห้ามปรามหรือขัดขวางการกระทำของนายบุญล้อมแต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่กลับเข้าบ้านจะถือว่าเป็นความผิดของจำเลยไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเกี่ยวกับปัญหานี้ จำเลยเองก็นำสืบรับว่าเมื่อโจทก์ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำเลยรับราชการไม่มีเวลาดูแลรักษาพยาบาลโจทก์ได้โจทก์จึงนำนายบุญล้อมเข้ามาอยู่ด้วย ดังนั้น เหตุที่โจทก์นำนายบุญล้อมเข้ามาอยู่ด้วยก็เพราะโจทก์ประสงค์ให้นายบุญล้อมได้เป็นผู้คอยช่วยเหลือดูแลโจทก์เนื่องจากความเจ็บป่วยของโจทก์ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้นั่งเอง จึงถือได้ว่าโจทก์มีเหตุผลอันจำเป็นและสมควรเป็นอย่างยิ่ง ส่วนที่จำเลยอ้างว่านายบุญล้อมได้ทะเลาะกับจำเลยและทำร้ายจำเลยนั้น ก็ได้ความจากนายบุญล้อมว่าเนื่องจากนายบุญล้อมพูดจาตักเตือนให้จำเลยอยู่ดูแลช่วยเหลือโจทก์ทั้งไม่ปรากฏว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงจนถึงกับจะอยู่ร่วมกันต่อไปไม่ได้แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยเองก็เป็นสามีโจทก์และมีฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่แล้ว หากจำเลยไม่ประสงค์จะให้นายบุญล้อมอยู่ในบ้านอีกต่อไป จำเลยก็ชอบที่จะบอกให้นายบุญล้อมออกไปจากบ้านเสียได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำเช่นนั้นแต่ประการใด ดังนั้นการที่จำเลยได้ออกจากบ้านไปเสียทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าโจทก์กำลังป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตนเองมิได้และกำลังต้องการความช่วยเหลือจากจำเลยอยู่เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยถือโอกาสละทิ้งร้างโจทก์ไปโดยมิได้มีความตั้งใจจะอยู่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามความสามารถและฐานะของตน จึงถือได้ว่าเหตุการหย่าดังกล่าวเป็นเพราะความผิดของจำเลยเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ปัญหาต่อไปมีว่า การหย่านั้นจะทำให้โจทก์ยากจนลงหรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากโจทก์และนายบุญล้อมว่า หลังจากที่โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตแล้วโจทก์มิได้ทำมาค้าขายอีก ทำให้ขาดรายได้ต้องอาศัยญาติพี่น้องโดยเฉพาะนายบุญล้อมและภรรยาก็ได้ออกค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูโจทก์ตกประมาณเดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่โจทก์เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาถึง 7 ปีเศษแล้ว จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ต้องยากจนจริง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยังมีฐานะดีอยู่ไม่ยากจนลงนั้นขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้นแต่ที่โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น เห็นว่า การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียนและขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งคำขอดังกล่าวให้นั้นเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขเสีย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน คำขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้ยก.