แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุข้อ 52 (2)ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างในกรณีการจ้างเหมาเกินกว่า 2,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 8,000,000 บาทและ ข้อ 64 กำหนดให้การต่ออายุสัญญาสำหรับวงเงินสั่งซื้อหรือสั่งจ้างที่เกินอำนาจหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้น การแสดงความเห็นของจำเลยที่ 1 ถึง 7 เกี่ยวกับขอต่ออายุสัญญา จึงเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของการพิจารณาว่าจะต่ออายุสัญญาให้หรือไม่เท่านั้น จำเลยที่ 1 ถึง 7 เป็นเพียงอาจารย์ของวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงมิใช่ผู้มีอำนาจในการนี้ การเสนอความเห็นดังกล่าวขึ้นมาก็เพราะโจทก์เป็นผู้สั่งให้ทำความเห็นผู้มีอำนาจอนุญาตหาจำต้องเห็นด้วยเสมอไปไม่ ในเมื่อการปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยที่ 1 ถึง 7 นั้นได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว และไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึง 7ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย เพราะในการพิจารณาให้ความเห็นอาศัยข้อมูลที่พบเห็นในการควบคุมดูแลการก่อสร้าง และข้อมูลที่ผู้รับจ้างส่งมา ส่วนเรื่องไม้แบบนั้นเมื่อตามสัญญาจ้างมิได้ระบุชัดแจ้งว่าต้องใช้ไม้ใดทำแบบ และกรณีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายการไม้วงกบ เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องขออนุมัติเปลี่ยนแปลงชนิดไม้เอง ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึง 7 กระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 8 ซึ่งมาช่วยราชการกองคลังของโจทก์ฝ่ายพัสดุจำเลยที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานพัสดุของโจทก์ จำเลยที่ 10 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชีของโจทก์ จำเลยที่ 11 เป็นผู้อำนวยการกองคลังของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 8 ถึง 11 เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้กลั่นกรองงานเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยหาข้อเท็จจริงและนำเสนอรายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือให้สั่งการ พร้อมความเห็นตามที่ที่ประชุมมีมติให้ต่ออายุสัญญาซึ่งมิใช่การอนุญาตให้ต่ออายุสัญญา และเหตุเปลี่ยนแปลงไม้เนื้อแข็งก็มีความเห็นให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาเท่านั้น มิได้ลงความเห็นว่าควรต่ออายุสัญญาหรือไม่แล้วจำเลยที่ 11 ได้รายงานเสนอผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป พร้อมด้วยหลักฐานและที่ว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะอนุญาตได้ก็เป็นการลงความเห็นตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 8 ถึง 11 กระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 12 เป็นรองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ขณะเกิดเหตุรองอธิบดีผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่อยู่ จำเลยที่ 12 จึงได้ตรวจงานแทนแล้วเสนอผ่านขึ้นไปยังอธิบดีเพื่อให้พิจารณาข้อเสนอตามที่กองคลังเสนอมาตามลำดับชั้น จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 12 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย
จำเลยที่ 13 เพิ่งมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโจทก์ภายหลังอธิบดีคนเดิมซึ่งได้เคยพิจารณาการต่ออายุสัญญาจ้างรายนี้มาก่อน และเคยมีหนังสือหารือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องไปให้กรมอัยการพิจารณา กรมอัยการแจ้งผลการพิจารณาว่าการต่ออายุสัญญาอยู่ในอำนาจของหัวหน้า-ส่วนราชการหรือปลัดกระทรวงแล้วแต่กรณีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 ข้อ 64 และการต่ออายุสัญญากระทำได้เฉพาะกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเพราะความผิดของผู้ว่าจ้างเท่านั้น กรณีตามข้อหารือคงมีปัญหาแต่เพียงว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อกรณีถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับจ้างได้ และเมื่อจำเลยที่ 13 ได้รับเรื่องราวดังกล่าวเสนอมาเมื่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีแล้ว ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีข้อหักล้างเหตุผลของผู้รับจ้างเป็นอย่างอื่น จึงได้เสนอเรื่องต่อไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่ออนุญาตให้ต่อสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอ และจำเลยที่ 13ยังได้มีความเห็นที่ไม่ควรต่ออายุสัญญากรณีเปลี่ยนแปลงรายการไม้เนื้อแข็งเพื่อใช้ทำวงกบประตูหน้าต่างด้วย ซึ่งเป็นการใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบและพิจารณาคำขออย่างรอบคอบตามสมควรแล้ว มิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายเช่นกัน
จำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อจำเลยที่ 13 เสนอความเห็นมาเป็น 2 ข้อ คือข้อแรกควรอนุญาตให้ต่ออายุสัญญาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 138 วัน ข้อสองกรณีขออนุมัติเปลี่ยนแปลงไม้เนื้อแข็งเพื่อใช้ทำวงกบประตูหน้าต่างว่าน่าจะถือเป็นความบกพร่องของผู้รับจ้างเองที่ไม่ขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนนำมาใช้ น่าจะไม่อนุญาต จำเลยที่ 14 ก็ได้ตรวจสอบเรื่องราวที่ขออนุญาตในเอกสารที่เกี่ยวข้อง และพบว่ากรมโจทก์เคยมีหนังสือหารือเรื่องเหตุสุดวิสัยไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังกรมอัยการกรมอัยการตอบมาว่าหากผู้รับจ้างได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรและไม่อาจป้องกันได้ และกรมโจทก์ไม่อาจหักล้างเหตุผลของผู้รับจ้างให้รับฟังเป็นอย่างอื่นกรณีก็ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะต่ออายุสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างการต่ออายุสัญญาเนื่องจากเหตุสุดวิสัยซึ่งทำได้ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีก่อนตัดสินใจจำเลยที่ 14 ยังได้เชิญผู้อำนวยการกองคลัง และนิติกรของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมปรึกษาหารือแล้วจึงมีความเห็นอนุมัติ ส่วนข้อสองจำเลยที่ 14 คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ผู้รับจ้างอ้างว่ารายการไม้กำหนดไว้ไม่ชัดแจ้ง และสัญญาในเรื่องเกี่ยวกับไม้ที่ใช้ทำวงกบนั้นไม่ชัดแจ้งจริงและก่อนที่จะพิจารณาได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าอาคารตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างนั้น โจทก์ได้ใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการขอเปลี่ยนแปลงวงกบประตูหน้าต่าง เป็นงานที่ได้ดำเนินการในงวดที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายแล้ว การรอให้มีการอนุญาตก่อนแล้วจึงเปลี่ยนทำให้ผู้รับจ้างต้องรอเรื่องอนุญาตจากโจทก์นานถึง 86 วัน โดยไม่อาจดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ และไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้างเป็นเหตุสุดวิสัย จึงสมควรต่ออายุสัญญาให้โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามหนังสือเวียนของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และโจทก์ได้ยอมรับว่าสัญญาในเรื่องเกี่ยวกับไม้ทำวงกบไม่ชัดแจ้ง ทั้งก่อนตัดสินใจได้เชิญผู้อำนวยการกองคลังและนิติกรของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมปรึกษา-หารือแล้ว จึงมีความเห็น เมื่อจำเลยที่ 14 มิได้ดำเนินการโดยพลการ แต่ได้ติดต่อประสานงานกับสำนักนายกรัฐมนตรี กรมอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสิบสี่มิได้ทุจริต ปูนซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามสัญญาหากซื้อเก็บไว้นานเกิน 30 วัน ก็จะเสื่อมคุณภาพ ประกอบกับการขอต่ออายุสัญญาภายหลังสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็อาจกระทำได้ตามหนังสือเวียนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และแม้ไม่อยู่ในช่วงที่คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ต่อสัญญาได้เพราะขาดแคลนปูนซีเมนต์ แต่ก็อาจมีปัญหาด้านการกักตุนและเก็งกำไรในบางท้องที่ได้ ซึ่งย่อมอยู่ในดุลพินิจของส่วนราชการคู่สัญญาที่จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ไป ผู้มีอำนาจตามระเบียบการพัสดุย่อมสามารถพิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของตนได้เมื่อมีเหตุสุดวิสัย ตามหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ จำเลยที่ 14 ใช้ดุลพินิจสั่งการตามอำนาจหน้าที่ไปโดยสุจริต มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์