คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ครอบครองปรปักษ์ที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยที่ 1 จะยกการได้กรรมสิทธิ์โดยการการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ เดิมที่ดินพิพาทมีชื่อ ม. บิดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2664 ม. ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วจำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งจำเลยที่ 1อาจอ้างสิทธินี้ยัน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมได้ แต่ตามมาตรา 1299 วรรคสอง สิทธิของจำเลยที่ 1 อันยังมิได้จดทะเบียนนั้น จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการซื้อจากเจ้าของเดิมมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและตามมาตรา 6 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการ โดยสุจริต เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับ โอนที่ดินพิพาทจาก ม.โดยไม่สุจริต จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจาก ม. โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ดังนั้นสิทธิการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้ และเมื่อจำเลยที่ 1ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์นับเวลาใหม่ยังไม่ถึงสิบปี จำเลยที่ 1 จึงอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ยันโจทก์มิได้เช่นกันจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2664จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2823ร่วมกับพระครูอรุณ ธรรมรังษี เจ้าอาวาสวัดวิเวการาม จำเลยที่ 2เป็นผู้ครอบครองดูแลและจัดการเกี่ยวกับที่ดินส่วนของพระครูอรุณแทนพระครูอรุณตลอดมา เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2527 จำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กจากที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 76 ตารางวา โจทก์แจ้งจำเลยทั้งสองให้รื้อถอนกำแพงออกไป จำเลยทั้งสองกลับอ้างว่าเป็นที่ดินของวัดวิเวการามซึ่งซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างรุกล้ำ และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2528 หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรองให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เนื้อที่ประมาณ76 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รุกล้ำละเมิดสิทธิในที่ดินของโจทก์ การก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กได้ทำในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับพระครูอรุณธรรมรังษี จำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่ดินยังเป็นของบิดาจำเลยที่ 1และยกให้จำเลยที่ 1 ทำกินและต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกินกว่า 50 ปีแล้วด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถือได้ว่ามีการแบ่งเขตกันครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรยกฎีกาข้อ 2 ของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยก่อน ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์เมื่อปี 2523โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริต การครอบครองปรปักษ์ของจำเลยที่ 1 จึงขาดตอนลงเมื่อนับเวลาการครอบครองใหม่ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้โจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้ในศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทมีว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ครอบครองปรปักษ์ที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยที่ 1จะยกการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ จึงเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมที่ดินพิพาทมีชื่อนายมั่งเฮี้ยง แซ่โง้ว บิดาโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2664เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2523 นายมั่งเฮี้ยง แซ่โง้ว ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วจำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งจำเลยที่ 1อาจอ้างสิทธินี้ยันนายมั่งเฮี้ยง แซ่โง้ว ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมได้แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองสิทธิของจำเลยที่ 1 อันยังมิได้จดทะเบียนนั้น จำเลยที่ 1จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต แล้วไม่ได้ ปัญหาว่าโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากนายมั่งเฮี้ยง แซ่โง้ว เจ้าของเดิมโดยสุจริตหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการซื้อจากเจ้าของเดิมมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากนายมั่งเฮี้ยง แซ่โง้วโดยไม่สุจริต คดีต้องฟังว่าโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากนายมั่งเฮี้ยง แซ่โง้ว เจ้าของเดิมโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ดังนั้นสิทธิการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ยังไม่สิบปี จำเลยที่ 1 จึงอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ยันโจทก์มิได้เช่นกัน จำเลยที่ 1ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นที่ว่าพระครูอรุณได้แลกเปลี่ยนที่ดินกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทมาเพียง 3 ปี ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์อีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กออกจากที่ดินของโจทก์ และร่วมกันก่อสร้างแนวรั้วลวดหนามและเสาคอนกรีตเสริมเหล็กของโจทก์ให้เป็นไปตามสภาพเดิมหากไม่สามารถร่วมกันก่อสร้างได้ก็ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000 บาท แก่โจทก์

Share