คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะ ก. มีชีวิตอยู่โจทก์เป็นผู้ครอบครองหุ้นและใบหุ้นแทน ก. เมื่อ ก. ตาย โจทก์มิได้มอบใบหุ้นของ ก. ให้จำเลยซึ่งเป็นทายาท เพื่อนำไปเวนคืนให้บริษัทรับจำเลยลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น การที่ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. จึงต้องถือว่าโจทก์ครอบครองหุ้นและใบหุ้นไว้แทนทายาทของ ก. ต่อไป แม้ระหว่างเป็นผู้จัดการมรดกโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินกันว่าให้ทรัพย์สินที่อยู่ในนามของ ก. ตกเป็นของโจทก์ก็ตาม แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นโมฆะแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยังคงครอบครองหุ้นและใบหุ้นของ ก. ต่อไป ต้องถือว่าครอบครองไว้แทนจำเลยซึ่งเป็นทายาท โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขึ้นยันจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นภริยา และบุตรของนายเกรียงศักดิ์ ตรีวรพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2513 โจทก์กับนายเกรียงศักดิ์ได้ร่วมกันจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนครบริการขนส่งจำกัด มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท แบ่งเป็น 1,000 หุ้น โจทก์กับนายเกรียงศักดิ์ ถือหุ้นคนละ 500 หุ้น เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม2520 นายเกรียงศักดิ์ ถึงแก่ความตายโดยจำเลยทั้งสองเป็นทายาทผู้รับมรดก ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2521 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินตลอดจนหนี้สินระหว่างโจทก์กับนายเกรียงศักดิ์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวหุ้นบริษัทนครบริการขนส่ง จำกัด ของนายเกรียงศักดิ์ จำนวน 500 หุ้นตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด และโจทก์ได้ยึดถือครอบครองหุ้นของนายเกรียงศักดิ์ดังกล่าวด้วยเจตนาเป็นเจ้าของพร้อมทั้งยึดถือใบหุ้นโดยสงบและเปิดเผย ส่วนทรัพย์สินที่ตกลงให้เป็นของจำเลยนั้น โจทก์ได้มอบแก่จำเลยเรียบร้อยและได้ชำระหนี้ของนายเกรียงศักดิ์ไปด้วยบางส่วน ต่อมาจำเลยได้ยื่นฟ้องขอให้บันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินเป็นโมฆะ ศาลฎีกาพิพากษาว่าบันทึกดังกล่าวเป็นโมฆะ วันที่ 9 มิถุนายน 2526 จำเลยได้ยื่นฟ้องบริษัทนครบริการขนส่ง จำกัด ขอให้บริษัทจดทะเบียนและจดแจ้งการโอนหุ้นจำนวน 500 หุ้น ดังกล่าวเป็นชื่อจำเลยลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เพราะโจทก์ได้ครอบครองหุ้นดังกล่าวด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า5 ปีแล้ว ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทนครบริการขนส่ง จำกัด หมายเลข 1 ถึง 500 และให้จำเลยโอนชื่อนายเกรียงศักดิ์ในทะเบียนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของนายเกรียงศักดิ์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นจนถึงขณะนี้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น บันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินตามที่โจทก์อ้างในฟ้องเกิดขึ้นจากการหลอกลวงของโจทก์และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำไปโดยขัดต่อกฎหมายเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จำเลยทั้งสองจึงฟ้องโจทก์ขอให้บันทึกแบ่งทรัพย์สินลงวันที่ 9 มิถุนายน 2521เป็นโมฆะ ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าบันทึกดังกล่าวเป็นโมฆะโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกรียงศักดิ์ผู้ตายอยู่ โจทก์จึงยกอายุความครอบครองปรปักษ์หุ้นพิพาทขึ้นมาฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทไม่ได้ จึงต้องถือว่าโจทก์ครอบครองหุ้นพิพาทไว้แทนจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้น โจทก์อ้างว่าครอบครองหุ้นพิพาทโดยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 จึงเป็นโมฆะ และฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 485/2527 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทนครบริการขนส่ง จำกัด หมายเลข 1 ถึง 500 ให้จำเลยโอนชื่อนายเกรียงศักดิ์ในทะเบียนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องบริษัทนครบริการขนส่ง จำกัดให้โอนหุ้นของนายเกรียงศักดิ์จำนวน 500 หุ้น เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ 1 ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความตามคำพิพากษาฎีกาที่ 776/2533 ระหว่างนางนิตยา ตรีวรพันธุ์โจทก์ บริษัทนครบริการขนส่งจำกัด จำเลย คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทจำนวน 500 หุ้น ของนายเกรียงศักดิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์กับนายเกรียงศักดิ์เป็นพี่น้องกัน ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทนครบริการขนส่งจำกัดเดินรถยนต์โดยสารประจำทางโดยนายเกรียงศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นพิพาทจำนวน 500 หุ้น ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์เบิกความว่า หลักฐานเกี่ยวกับใบหุ้นของนายเกรียงศักดิ์และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอยู่ในครอบครองของโจทก์จึงฟังได้ว่า ขณะนายเกรียงศักดิ์มีชีวิตอยู่โจทก์เป็นผู้ครอบครองหุ้น และใบหุ้นไว้แทนนายเกรียงศักดิ์ ดังนั้นเมื่อนายเกรียงศักดิ์ผู้ถือหุ้นตาย โจทก์จึงชอบที่จะมอบใบหุ้นของนายเกรียงศักดิ์แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาท เพื่อนำไปเวนคืนให้บริษัทรับจำเลยลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสืบไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1132 แต่โจทก์ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเกรียงศักดิ์จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ครอบครองใบหุ้นและหุ้นของนายเกรียงศักดิ์ไว้แทนทายาทของนายเกรียงศักดิ์ต่อไป ที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่านับตั้งแต่ได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ครอบครองใบหุ้นและหุ้นพิพาทจำนวน 500 หุ้นของนายเกรียงศักดิ์ไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่าห้าปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า บันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินตามเอกสารหมายจ.1 มีข้อความว่าให้ทรัพย์สินที่อยู่ในนามของนายเกรียงศักดิ์ตกเป็นของโจทก์ แต่ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาว่าบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเพราะโจทก์และจำเลยที่ 1 ผู้ทำบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์สินต่างเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกรียงศักดิ์ กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโอนหุ้นนายเกรียงศักดิ์ให้โจทก์แล้ว การที่โจทก์ยังคงครอบครองหุ้นและใบหุ้นของนายเกรียงศักดิ์ไว้ต่อไปก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ครอบครองไว้แทนจำเลยซึ่งเป็นทายาท โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ขึ้นยันจำเลยได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share