คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เบี้ยปรับคือสัญญาซึ่งลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่สัญญากู้เงินหรือสัญญาจำนองกำหนดให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยทั้งสอง ผู้เป็นลูกหนี้จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ การที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ลงเหลืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยอ้างว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้นจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 2,000,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2538 แล้วไม่ชำระอีกเลย โดยยังค้างชำระต้นเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ย219,397.22 บาท ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 39,561.64 บาทรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 2,258,958.86 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญา ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,258,958.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบขอให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16662, 16675 และ 16676พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของ จำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,229,589 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่13 ตุลาคม 2538) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16662, 16675และ 16676 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากขาดจำนวนอยู่เท่าใดให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้อัตราสูงสุด ร้อยละ 19 ต่อปี นั้นเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 มีใจความว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้เงินเป็นรายเดือนแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และถ้าต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้คิดได้ ผู้กู้ตกลงให้ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ ฯลฯ และตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 มีใจความว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแปลงที่กล่าวข้างบนนี้ทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาทโดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ศาลฎีกาเห็นว่า เบี้ยปรับคือสัญญาซึ่งลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแต่สัญญากู้เงินหรือสัญญาจำนองกำหนดให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้จะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ดังนั้นข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ การที่ศาลชั้นต้นลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ลงเหลืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยอ้างว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,258,958.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่มิให้เกินอัตราตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้โจทก์เรียกได้ในต้นเงิน2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share