คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชายหญิงอยู่กินกันอย่างสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตรที่เกิดมาก็อยู่ร่วมด้วยจนกระทั่งชายตายจากไป ชายได้อุปการเลี้ยงดูบุตรฉันบิดากับบุตร บุตรใช้นามสกุลของชายนั้น และเรียกชายนั้นว่าพ่อ ในการสำรวจทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2449 ก็ปรากฎในทะเบียนนั้นว่าเด็กนั้นเป็นบุตรโดยชัดแจ้งเด็กนั้นย่อมเป็นผู้สืบสันดานของชายเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
สิทธิรับจำนองเป็นอสังหาริมทรัพย์
การยกสิทธรับจำนองให้แก่กัน ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกของนายชีจากจำเลย
จำเลยต่อสู้ในข้อสำคัญว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่บุตรนายชี จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกมรดกที่ดินที่นายชีรับจำนองไว้จากนายกรองนั้น นายชีได้โอนสิทธิรับจำนองให้จำเลยแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่านายชีได้รับรองเด็กหญิงเป้าโจทก์ที่ ๑ ว่าเป็นบุตรนายชี จึงมีสิทธิรับมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙(๑) ส่วนสิทธิรับจำนองที่ดินที่นายชีรับจำนองไว้นั้น นายชีมิได้ทำนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ คงมอบแต่ตราจองสำหรับที่ดินที่รับจำนองให้ไว้ ยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย สิทธิในการรับจำนองยังคงเป็นของนายชีอยู่ตามเดิม พิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามรายการที่ฟังว่าเป็นมรดกนายชีให้แก่โจทก์ ๒ คนๆ ละ ส่วน ให้จำเลย ๑ ส่วน หากแบ่งไม่ตกลงให้ประมูลกัน ถ้าประมูลไม่ตกลงให้ ถ.ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยไปขอจดทะเบียนสิทธิรับมรดกสัญญาจำนองที่ดินร่วมกับโจทก์ทั้งสอง ถ้าจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืน
ข้อกฎหมายที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมีดังนี้
ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่านางแผ่วเป็นภริยานายชีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน นางแผ่วเกิดบุตรกับนายชี ๒ คน คือ โจทก์ทั้งสองนี้ นางแผ่วได้อยู่กินกับนายชีฉันสามีภริยา โจทก์ทั้งสองก็ได้อยู่กับนายชีและนางแผ่นจนกระทั่งนายชีตายจากไป นายชีได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ฉันบิดากับบุตร โจทก์ใช้นามสกุลของนายชีและเรียกนายชีว่าเตี่ย ในการสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็ปรากฎในทะเบียนว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนายชี ดังนี้ เป็นที่ฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนายชีเกิดกับนางแผ่ว นายชีได้รับรองโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนายชีโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๒๗ ให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชี โจทก์จึงเป็นทายาทของนายชีมีสิทธิรับมรดกของนายชีตามกฎหมาย
ข้อที่จำเลยฎีกาในเรื่องสิทธิรับจำนองว่า นายชีได้ยกให้จำเลยโดยส่งมอบและแจ้งให้ลูกหนี้ทราบแล้ว เป็นอันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ และจำเลยก็ได้รับโอนสิทธิรับจำนองรายนี้ทางทะเบียนถูกต้องแล้ว สิทธิรับจำนองจึงไม่ใช่มรดกของนายชีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องนายชียกสิทธิรับจำนองที่ดินให้แก่จำเลย สิทธิรับจำนองนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐ ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้น การยกสิทธิรับจำนองให้แก่กันจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ คือ ต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะขอรับมรดกสิทธิรับจำนองของนายชีร่วมกับจำเลยด้วย

Share