คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานของกฎหมายในประมวลแพ่งฯ มาตรา 1357 ใช้เมื่อความจริงไม่ปรากฎ เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฎฟังได้ก็พึงถือตามข้อเท็จจริงนั้น
การที่จำเลยและโจทก์และทายาทอื่นรวม 14 คนมีชื่อในโฉนดแต่ พ.ศ.2465 เวลาจะแบ่งที่ในโฉนด ย่อมต้องแบ่งตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะมรดก ร.ศ.121 มาตรา 1 ข้อ 1 (2) คือ “ถ้าบุตรบางคนมรณภาพ ฯลฯ ให้เอาส่วนของบุตรที่มรณภาพแบ่งให้แก่หลานผู้มรณภาพ ซึ่งเป็นบุตรของบุตรผู้มรณภาพนั้น เหมือนอย่างว่าเป็นมรดกของบุตรผู้นั้นเองต่อ ๆ ลงไป ฯลฯ”

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ ๘๘๐ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เนื้อที่ ๑๘๐ ไร่เศษ เดิมเป็นของนายพุฒ ๆ ตาย โจทก์และทายาทได้ลงชื่อรับมรดกไว้รวม ๑๔ คนด้วยกัน บัดนี้โจทก์ต้องการแบ่งส่วนของโจทก์ ๑ ใน ๗ ทายาทอื่นยินยอม แต่จำเลยไม่ยอม จึงมาฟ้องให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้ง ๗ ให้การว่า ผู้มีชื่อในโฉนดต่างมีกรรมสิทธิ์ในคนละ ๑ ใน ๑๔ จำเลยที่ ๒ ได้รับส่วนของนายฮิมอีก ๑ ส่วนและซื้อส่วนของนางวงษ์อีก ๑ ส่วนรวมเป็น ๓ ส่วน ไม่ใช่โจทก์มีส่วนได้๑ ใน ๗ คนเดียวดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ได้มีการลงชื่อโจทก์จำเลยและทายาทอื่นรวม ๑๔ คนในโฉนด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงต้องใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะมรดก ร.ศ. ๑๒๑ มาตรา ๑ ข้อ ๑ วรรค ๒ ซึ่งมีข้อความว่า “ถ้าบุตรบางคนมรณภาพบางคนยังอยู่หรือ มรณภาพทั้งหมดก็ดี ให้เอาส่วนของบุตรที่มรณภาพแบ่งให้หลานผู้มรณภาพ ซึงเป็นบุตรของบุตรผู้มรณภาพนั้น เหมือนอย่างว่าเป็นมรดกของบุตรผู้นั้นเองต่อ ๆ ลงไป ฯลฯ”
จึงพิพากษางแก้คำพิพากษาศาลแพ่งเป็นว่า ให้โจทก์ได้แบ่งที่ดินพิพาท ๑ ใน ๗ ส่วนจำเลยนั้นมีส่วนแบ่งเฉพาะส่วนของมารดาของตน นอกจากจำเลยคนดใดได้รับโอนส่วนมาจากใครเท่าใดก็ให้เป็นไปตามที่ได้จดทะเบียนไว้นั้นอีกด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share