แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และได้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำต่อเนื่องในวันเดียวกัน แต่จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาต่างกันคือ จำเลยมีเจตนาพรากเด็กหญิง อ. ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารอันเป็นเจตนาที่กระทำต่อมารดาของเด็กหญิง อ. ส่วนที่จำเลยกระทำต่อเด็กหญิง อ. เป็นเจตนากระทำชำเราอันเป็นเจตนาต่างหากจากเจตนาพราก จึงมิใช่กระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละวันที่เกิดเหตุตามคำฟ้องจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และ 317 วรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 5 ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี เมื่อรวมโทษจำคุก 5 ปี ในความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว คงจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเพียงประการเดียวว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารและความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนเป็นความผิดต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และได้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมแม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการกระทำต่อเนื่องในวันเดียวกันก็ตาม แต่เห็นได้ชัดว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีเจตนาพรากเด็กหญิง อ. ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารอันเป็นเจตนาที่กระทำต่อมารดาของเด็กหญิง อ. ส่วนที่จำเลยกระทำต่อเด็กหญิง อ. เป็นเจตนากระทำชำเราอันเป็นเจตนาต่างหากจากเจตนาพรากดังกล่าว จึงมิใช่กระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละวันที่เกิดเหตุตามคำฟ้องจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยเป็นความผิดสี่กรรมจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน