แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแพ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดคดีนี้ในชั้นต้น จึงเป็นศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เสนอต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 คำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรีที่อนุญาตให้ขายที่ดินแก่ผู้ที่ประมูลให้ราคาสูงสุดได้เป็นการสั่งในการบังคับคดีแทนศาลแพ่งเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อกฎหมายก่อนการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นและไม่ช้ากว่า 8 วันนับแต่วันทราบการฝ่าฝืน ศาลแพ่งย่อมมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวของศาลจังหวัดธัญญบุรี ซึ่งเป็นศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลแพ่งได้
ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนั้น เมื่อปรากฏว่าราคาสูงสุดที่มีผู้ประมูลได้เป็นราคาที่ต่ำไปมาก โดยต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมากจำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งต้องเสียหายย่อมขอให้ศาลสั่ง เพิกถอนการขายและขอให้ขายทอดตลาดใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีและขอให้ศาลจังหวัดธัญบุรีดำเนินการบังคับคดีแทน ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด จำเลยคัดค้านว่าราคายังต่ำไปขอให้ประกาศขายใหม่และได้ยื่นคำร้องว่าราคาสูงสุดที่ผู้ประมูลให้ราคาไว้ต่ำกว่าราคาประเมินเป็นอันมากทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดยังไม่ได้ตกลงด้วยการเคาะไม้ แต่ได้รายงานต่อศาลเพื่อให้พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง การขายทอดตลาดจึงยังไม่บริบูรณ์ ขอให้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดใหม่อีกครั้ง
ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายและศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายแก่ผู้ร้องคัดค้านผู้ให้ราคาสูงสุด ราคาที่ดินที่ประมูลได้ก็เป็นราคาที่เหมาะสม เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ชี้แจงก่อนทำการขายทอดตลาดว่าจะเสนอให้ศาลสั่งให้ผู้ประมูลที่ให้ราคาสูงสุดเป็นผู้ประมูลได้ การขายทอดตลาดได้เสร็จสิ้นไปแล้วโดยไม่ปรากฏว่ากระทำไปโดยไม่สุจริต ผู้ร้องคัดค้านได้ชำระเงินและโอนที่ดินใส่ชื่อผู้ร้องคัดค้านแล้ว จำเลยจะร้องขอให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่ไม่ได้คำร้องของจำเลยต้องยื่นต่อศาลจังหวัดธัญบุรีซึ่งเป็นศาลที่มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จะยื่นต่อศาลแพ่งไม่ได้ ศาลแพ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัยหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดไต่สวนคู่ความทุกฝ่ายรับกันว่า การขายทอดตลาดรายนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายโดยไม่มีการเคาะไม้ และราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมีราคาตามหนังสือรับรองของเจ้าพนักงานที่ดิน และต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ศาลแพ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีย่อมมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดีได้ กาาขายทอดตลาดรายนี้ผู้ดำเนินการขายทอดตลาดไม่ได้แสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้หรือแสดงกิริยาอันใดตามจารีตประเพณีการขายทอดตลาด การขายทอดตลาดจึงไม่บริบูรณ์ มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้ และให้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดใหม่
ผู้ร้องคัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องคัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องคัดค้านฎีกาว่า ศาลแพ่งและศาลจังหวัดธัญบุรีต่างเป็นศาลชั้นต้นด้วยกัน ศาลแพ่งจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดธันบุรีที่อนุญาตให้ขายที่ดินแก่ผู้ที่ประมูลให้ราคาสูงสุดได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ ศาลแพ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดคดีในชั้นต้น จึงเป็นศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เสนอต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๒ คำสั่งของศาลจังหวัดธัญบุรี ที่อนุญาตให้ขายที่ดินแก่ผู้ที่ประมูลให้ราคาสูงสุดได้เป็นการสั่งให้การบังคับคดีแทนศาลแพ่งเท่านั้นดังนั้นเมื่อจำเลย (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งภายหลังจากการขายทอดตลาดที่ดินเพียง ๔ วัน อ้างว่าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งก่อนการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นและไม่ช้ากว่า ๘ วันนับแต่วันทราบการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง ศาลแพ่งย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของจำเลยและมีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวของศาลจังหวัดธัญบุรีซึ่งเป็นศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลแพ่งได้
เมื่อการขายทอดตลาดครั้งนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ หรือด้วยกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาดดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว การขายทอดตลาดจึงยังไม่บริบูรณ์ตาม มาตรา ๕๐๙ และยังเห็นได้ชัดเจนด้วยว่า ราคาสูงสุดที่ผู้ร้องคัดค้านประมูลได้นั้นเป็นราคาที่ต่ำไปมากเฉลี่ยแล้วตกราคาไร่ละ ๘,๓๐๐ บาทเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินไร่ละ ๔๐,๐๐๐๐ บาท เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งต้องเสียหายย่อมขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายและขอให้ขายทอดตลาดใหม่ได้
พิพากษายืน