คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6999 สงขลา และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฎิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวบรรทุกดินจากนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เพื่อจะนำดินไปถมบริเวณตลาดสด โดยขับมาตามถนนรัถการแล้วเลี้ยวขวาเข้าตลาดสด โดยไม่ชะลอความเร็วของรถกับไม่ให้สัญญาณไฟและสัญญาณเสียง ขณะนั้นมี นายสุชาติ ชอบงาม ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สงขลา ย-3905 มีโจทก์นั่งซ้อนท้ายมาด้วยในทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์คันที่นายสุชาติขับอย่างกระทันหันเป็นเหตุให้ยางอะไหล่รถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนกระแทกรถจักรยานยนต์คันที่นายสุชาติขับล้มลง และครูดไปกับถนน เป็นเหตุให้นายสุชาติได้รับอันตรายและถึงแก่ความตาย ส่วนโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเกตุศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2542 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3793/2542 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส การการะทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส นิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วกลางของเท้าข้างขวาขาดต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปทั้งสิ้น 74,818 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเพียง 15,000 บาท การที่โจทก์สูญเสียนิ้วเท้าข้างขวา 3 นิ้ว โจทก์ขอคิดค่าเสื่อมสภาพของร่างกายและค่าใช้จ่ายในการที่ต้องจัดหาอุปกรณ์ทดแทนเป็นเงิน 150,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 209,818 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 209,818 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 มีประเด็นเรื่องอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 นายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องในวันที่ 22 เมษายน 2545 และบรรยายคำฟ้องว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แม้การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานะกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3792/2542 ก็ตาม แต่การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมาลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้น หมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วยดังนี้ การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงใช้อายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเกตุเป็นเวลา 3 ปี เศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 ซึ่งต่อสู้เรื่องอายุความจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดเมื่อเกิน 1 ปี โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ย่อมขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share