แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทนายจำเลยมิได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (3) และมาตรา 2 (15) การที่ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้ว ทั้งจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างประเทศเข้าใจผลแห่งคำพิพากษาโดยไม่ต้องมีล่าม จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยมาตรา 182 วรรคสองและวรรคสามแล้ว ไม่มีเหตุยกเลิกการอ่านคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ทนายจำเลยทราบ จะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการปรึกษากับทนายจำเลยในการยื่นฎีกาหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้การอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7), 289 (6) (7) ประกอบมาตรา 80, 340 ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1), 58, 62 วรรคหนึ่ง รวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้ประหารชีวิตจำเลยเพียงสถานเดียว ริบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 3,605 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7) เมื่อรวมโทษกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปให้ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 และศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาดังกล่าวให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546
วันที่ 26 ธันวาคม 2546 ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้มีหมายแจ้งวันนัดให้ทนายจำเลยทราบวันอ่านคำพิพากษศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นการจำกัดสิทธิของจำเลย ขอให้ยกเลิกการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านให้จำเลยฟัง และให้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยและทนายจำเลยฟังอีกครั้งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟังชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกเลิกการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ของศาลจังหวัดนนทบุรี และให้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยและทนายจำเลยฟังใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้ศาลอ่านคำพิพากษาในศาลต่อหน้าคู่ความโดยเปิดเผย เมื่ออ่านแล้วให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ และมาตรา 2 (15) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “คู่ความ” ไว้ว่า หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมาตรา 2 (3) “จำเลย” หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด ดังนั้น ทนายจำเลยจึงมิได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นโดยศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้วทั้งยังปรากฏว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนเพื่อยื่นอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง และปรากฏจากฎีกาและคำเบิกความของจำเลยว่าจำเลยพูดและฟังภาษาไทยได้บ้าง แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยเข้าใจผลแห่งคำพิพากษาโดยไม่ต้องมีล่าม จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุยกเลิกการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ทนายจำเลยทราบ จะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการปรึกษากับทนายจำเลยในการยื่นฎีกาหรือไม่อย่างไร ก็หาเป็นเหตุให้การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.