แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วนายจ้างจะต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างแต่ โจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่าเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ยังคงมีนิติสัมพันธ์อยู่กับจำเลยอย่างเดิมจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ต้องถือว่าการเลิกจ้างมีผลนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำรายเดือนจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราเดิมนับแต่วันที่จำเลยหยุดดำเนินกิจการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้แปรรูปองค์การจำเลยจนถึงวันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา อันเป็นช่ วงเวลาที่โจทก์ไม่ได้ทำงานโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยกับเงินบำเหน็จโดยจะต้องนำค่าครองชีพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างมารวมเป็นฐานคำนวณให้แก่โจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยหยุดกิจการจนถึงวันที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เลิกจ้างโจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งห้าพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากจำเลยหยุดกิจการ และนับแต่หยุดกิจการเป็นต้นมา โจทก์ไม่ได้ทำงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งห้าสำนวนและจำเลยสำนวนที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๕ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่าเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้และศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำสั่งศาลแรงงานกลางแล้ว จำเลยมิได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแต่อย่างใด ก็ต้องถือว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้ามีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา คือวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๒ โจทก์ทั้งห้าจึงมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยจนถึงวันดังกล่าว การเลิกจ้างของจำเลยมิใช่มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๑ โจทก์ทั้งห้ายังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๑ ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย แม้ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๒โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ทำงาน ก็มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ทั้งห้าแต่อย่างใด โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวและได้รับค่าจ้างตามอัตราจ้างที่ปรับใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จที่จำเลยยังจ่ายให้ไม่ครบถ้วนตามฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้วนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ และเมื่อนายจ้างได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานให้เลิกจ้างได้แล้ว ก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้แล้ว จำเลยก็ไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแต่อย่างใด แต่ปรากฏตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าได้แล้ว โจทก์ทั้งห้ายังคงมีนิติสัมพันธ์อยู่กับจำเลยอย่างเดิมจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา เท่ากับโจทก์ทั้งห้ายอมรับว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้วในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา จึงต้องถือว่าเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าอันมีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๑๗มีนาคม ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลแรงงานกลาง โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๒ ตามฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างที่ปรับใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เพียงแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับค่าจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ แต่สำหรับจำเลยไม่ได้ออกคำสั่งให้ปรับเงินเดือนลูกจ้างตามมติดังกล่าวเนื่องจากจะแปรรูปองค์ารจำเลยตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างที่ปรับใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี ฉะนั้นการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งห้าในช่วงระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๑๗ มีนาคม๒๕๓๒ ตลอดจนการจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓และที่ ๕ ต้องถืออัตราค่าจ้างในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ ตามฟ้องซึ่งไม่ปรากฏว่าต่างกับอัตราค่าจ้างในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๒ เป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งห้า และที่จะนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ที่ ๑ที่ ๓ และที่ ๕ ที่ศาลแรงงานกลางคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจากอัตราค่าจ้างเดิม จึงชอบแล้ว ส่วนค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเมื่อการเลิกจ้างมีผลในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๒ ดังได้วินิจฉัยมา โจทก์ที่ ๑ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นเงิน ๒๒,๘๕๒.๖๗บาท ๒๘,๓๘๖ บาท ๒๖,๓๙๔ บาท และ ๒๑,๒๔๘ บาท ตามลำดับ สำหรับโจทก์ที่ ๔ ทำงานมา ๑๑๔ วัน จะมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ๗,๔๔๗.๖๒ บาท แต่กลับขอมาในคำฟ้องเพียง ๖,๙๕๔ บาท จึงกำหนดให้โจทก์ที่ ๔ ได้รับค่าจ้างเท่าจำนวนที่ขอมา
จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าครองชีพเป็นเงินที่จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการสงเคราะห์ช่วยเหลือพนักงานชั้นผู้น้อย ไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ที่ ๑ที่ ๓ และที่ ๕ ไม่มีสิทธิให้นำค่าครองชีพมารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย และตามระเบียบเกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จของจำเลยว่าให้นำเฉพาะอัตราเงินเดือนมาเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จเท่านั้นจึงไม่อาจนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จเพื่อจ่ายให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๕ ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๕ เป็นประจำทุกเดือน และมีจำนวนแน่นอน ซึ่งเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๓และที่ ๕ เช่นเดียวกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ย่อมถือว่าค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน๒๒,๘๕๒.๖๗ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๒๘,๓๘๖ บาท โจทก์ที่ ๓ จำนวน๒๖,๓๙๔ บาท โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๖,๙๕๔ บาท โจทก์ที่ ๕ จำนวน ๒๑,๒๔๘บาทด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.